คิดให้สำเร็จอย่าง อเล็กซานเดอร์ แวง

956

 

อเล็กซานเดอร์ แวง เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย จนได้ฉายาว่าเป็น Fashion’s Golden Boy ด้วยการออกแบบเสื้อผ้าที่มีสไตล์ สามารถรวมความรู้สึกสบาย มีเสน่ห์ และความขัดแย้งเข้าไว้ด้วยกัน

ปัจจุบันเขาพาแบรนด์ชื่อเดียวกับตัวเอง Alexander Wang เข้าสู่ปีที่ 11 อย่างสวยงาม

อะไรคือแนวคิดสำคัญที่ทำให้ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ?

1. เชื่อในสัญชาติญาณของตัวเอง

อเล็กซานเดอร์มีไอเดียทำธุรกิจตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัย

คืนหนึ่งเขาโทรศัพท์จากห้องพักมาบอกคุณแม่ว่า จะหยุดเรียนเพื่อออกมาทำแบรนด์เสื้อผ้า ทั้ง ๆ ที่ในครอบครัวไม่มีใครมีความรู้เกี่ยวกับแฟชั่นเลย แต่เขาแน่ใจว่าตัวเองต้องการอะไรและพร้อมลงมือทำเต็มที่

จากการสนับสนุนของคุณแม่ พี่ชาย และพี่สะใภ้ ในปี 2005 Alexander Wang Inc. ได้ก่อตั้งขึ้น และเปิดตัวคอลเล็กชั่นแรก ตอนนั้นอเล็กซานเดอร์อายุเพียง 21 ปี

ปี 2008 ผลงานของเขาเริ่มเป็นที่จับตามอง เมื่อได้รับรางวัล CFDA Fashion Fund Award และได้รับอีกหลายรางวัลในเวลาต่อมา

หลังจากมีชื่อเสียงแล้ว เป็นธรรมดาที่วงการแฟชั่นมักมีข่าวรวมทั้งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ อเล็กซานเดอร์ยอมรับว่า ไม่ได้อ่านข้อความเหล่านั้นมากนัก เพราะตราบใดที่เชื่อในสิ่งที่ทำ และมีทีมงานฝ่าฟันไปด้วยกันก็เพียงพอแล้ว

 

2. คว้าโอกาสที่ผ่านเข้ามา

ความท้าทายครั้งสำคัญมาถึง เมื่อเขามีโอกาสได้ทำงานกับแบรนด์ชื่อดังจากฝรั่งเศสอย่าง Balenciaga ในตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ช่วงปี 2012-2015 ซึ่งช่วยเปิดมุมมองทั้งเรื่องเทคนิคการตัดเย็บและการจัดแฟชั่นโชว์

แล้วระหว่างทำงานอยู่ที่ปารีสก็มีอีกข้อเสนอหนึ่งที่น่าตื่นเต้นเข้ามาด้วย เมื่อ H&M เสนอให้ทำโปรเจคพิเศษร่วมกัน

อเล็กซานเดอร์ตกลงทันที ท่ามกลางข้อสงสัยที่ว่า ทำไมจู่ ๆ ถึงเลือกออกแบบให้กับธุรกิจเสื้อผ้าค้าปลีก แต่เขามองว่าเป็นเรื่องที่ดีไม่แพ้กัน เพราะชอบเสื้อผ้ากีฬาอยู่แล้ว นอกจากจะได้กลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น H&M ยังมีวัตถุดิบมาก อยู่ในกระบวนการการผลิตขนาดใหญ่ จึงทำให้ได้เรียนรู้ขั้นตอนการทำงานใหม่ ๆ

แล้วพอสินค้าวางขายก็ได้รับผลตอบรับดีเกินคาด เสื้อผ้า 70% ในสต็อกขายหมดภายในหนึ่งชั่งโมง อเล็กซานเดอร์ได้นำประสบการณ์สองส่วนนี้ ไปปรับใช้กับแบรนด์ของตัวเองอีกด้วย

 

3. ใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างผลงาน

ความคิดที่จะยกระดับเสื้อผ้าในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่เขาชอบ งานออกแบบเริ่มมาจากความรู้สึกอุ่นใจ เป็นเสื้อผ้าที่ตัวเองคุ้นเคย และสามารถเข้าถึงคนอื่นได้ด้วย

เช่น เสื้อยืดผ้าเจอร์ซีย์ที่สร้างกระแสสไตล์มินิมอล เขาว่ามันเป็นตัวแทนของความเรียบ แต่ก็เป็นชิ้นที่เชื่อมั่น แล้วการมีเสื้อผ้าแบบนั้น ผลักดันให้มีคอลเล็กชั่นเต็มออกมา

อย่างไรก็ตามเมื่อได้ทำงานกับคนเก่ง ๆ มาแล้ว อเล็กซานเดอร์พยายามสร้างสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน และอยากทำโชว์ให้ก้าวหน้า ดังนั้นความขัดแย้งจึงเป็นทางเลือกที่น่าดึงดูดใจ

เขาชอบทดลองจับอะไรที่แตกต่างมาอยู่ด้วยกัน พอพูดคุยกับทีมงานด้วยแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ ก็ลองผิดลองถูกต่อยอดความคิดออกไปหลากหลาย ก่อนที่จะไปจบบนรันเวย์

หลายครั้งลุคที่ได้คล้ายกับว่าแค่หยิบเสื้อผ้ามารวมกัน ซึ่งเขาย้ำว่าทุกอย่างใช้เวลานานและผ่านการคิดมาดีแล้ว  

นอกจากนี้ดนตรีและศิลปินยังจุดประกายไอเดียเช่นเดียวกัน หลายอย่างที่มีอิทธิพลต่อแฟชั่นมาจากดนตรี และเขาฟังเพลงหลายแนว

เช่น พังค์ กรันจ์ ฮิปฮอป อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ สไตล์และความเคลื่อนไหวเหล่านี้ กลายเป็นวัตถุดิบที่นำมาสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม

4. มีวิสัยทัศน์ชัดเจน

อเล็กซานเดอร์กล่าวว่า ความคิดหลักที่มีอยู่เสมอตั้งแต่เริ่มต้นประกอบด้วย 2 อย่าง คือ การเล่าเรื่อง และการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า ดังนั้นเขาจึงต้องการสร้างไลฟ์สไตล์มากกว่าการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว

“แฟชั่นคือธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่ พอหมดวันคุณต้องขายเสื้อผ้า และต้องสร้างไอเดียที่เชื่อมโยงกับลูกค้าตัวเองให้ได้…มันคือการเล่าเรื่องด้วยการค้า”

ทุกอย่างมาจากการใส่ใจรายละเอียดการเลือกเนื้อผ้า ออกแบบ ตัดเย็บให้เป็นรูปเป็นร่าง แล้วหาทางส่งต่อความงามนั้นในราคาที่จับต้องได้ เขาเรียกว่า “การจับคู่ความสวยกับราคา” เพราะถ้าคนซื้อไม่ได้ ของชิ้นนั้นถือว่าไม่ตอบโจทย์และจะค้างอยู่ในร้าน

พอมองย้อนกลับไปอเล็กซานเดอร์บอกว่าภูมิใจในทุกงานที่ทำ แม้การออกแบบและวิธีนำเสนอจะพัฒนาจากปีแรกที่วางขาย แต่ความรู้สึกเดิมที่มีต่อแบรนด์ยังคงอยู่

 

5. รู้จักทำงานเป็นทีม

ดีไซน์เนอร์หนุ่มให้เครดิตกับทีมงานเสมอ  เขามองว่าตอนนี้ไม่ใช่เรื่องของเขาคนเดียว

สิ่งที่กำลังทำอยู่คือแบรนด์ เป็นที่ที่คนกลุ่มหนึ่งร่วมมือสร้างผลงานด้วยกัน แต่ละคนสนับสนุน รวมทั้งออกความคิดเห็นจนคอลเล็กชั่นออกมาได้สำเร็จ

ยิ่งไปกว่านั้นตลอดสิบปีเศษที่ผ่านมา ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น อย่างมีคนยกเลิกแผน หรืองานติดขัด เมื่ออยู่ในหน้าที่รับผิดชอบแล้ว พวกเขาต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และหาทางแก้ปัญหา สำหรับตัวเองในวัย 32 ปี เขารู้สึกว่าปรับตัวได้ไวขึ้น

6. มีไอดอล

หลายครั้งที่ถูกถามว่าใครคือคนต้นแบบ

ราล์ฟ ลอเรน มักเป็นชื่อแรกที่เอ่ยถึง  เพราะราล์ฟสามารถผลิตสินค้าที่ขายดีระดับโลก และมีแนวทางชัดเจน ถึงขนาดที่ไม่มีโลโก้อยู่บนเสื้อผ้า คนดูโฆษณาก็ยังรู้ว่าใครเป็นคนทำ

อีกทั้งในโชว์รูมยังตกแต่งและสร้างบรรยากาศ ที่ทำให้เข้าไปมีประสบการณ์ร่วมกับสินค้าได้จริง อเล็กซานเดอร์ชทั้งรู้สึกชื่นชมและประทับใจมาก จนบางครั้งใช้เป็นแนวทางการทำงานด้วย

ส่วนดีไซเนอร์อีกคนคือ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ผู้มีวิธีนำเสนอที่หลากหลาย และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้หลายกลุ่ม ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องน่าทึ่ง

 

7. สนุกให้เต็มที่

นอกจากผลงานการออกแบบแล้ว อเล็กซานเดอร์ยังมีภาพจำว่าเป็นคนรุ่นที่ใหม่ที่เต็มไปด้วยพลังและมีชีวิตชีวา

สื่อมวลชนต่างให้ความเห็นว่า ปาร์ตี้ของ Alexander Wang เป็นสิ่งที่ไม่ควรพลาด เขารวบรวมศิลปินดังและดนตรีดี ๆ มาไว้ในงาน เพราะอยากให้ทุกคนสนุกหลังจบแฟชั่นโชว์

ส่วนชีวิตประจำวัน แม้ตารางานจะแน่น เขามักหาเวลาไปพบเพื่อนที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนอาทิตย์ละครั้ง หรือออกไปเที่ยวคืนวันศุกร์และเสาร์ เป็นการชาร์ทพลังให้ตัวเอง แล้วกลับมาทำงานด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย

สำหรับอเล็กซานเดอร์ แวง การทำธุรกิจคือ ความรู้สึกบวกกับทัศนคติ ที่ถ่ายทอดออกมาสู่ลูกค้า แม้อุตสาหกรรมแฟชั่นจะเป็นการทำงานที่ซับซ้อน แต่เขาก็ต้องการสร้างสรรค์ผลงานให้ดีที่สุด หาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัวสม่ำเสมอ และมุ่งมั่นพัฒนาแบรนด์ต่อไปในอนาคต