การเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจที่ทำธุรกิจประสบความสำเร็จนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝัน แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะต้องผ่านอุปสรรค ความพยายามมากมาย เส้นทางสู่ความสำเร็จนั้นมักมาพร้อมความเสี่ยงและความไม่แน่นอน วันนี้เลยนำเอา 5 สาเหตุ ที่ทำให้เจ้าของกิจการหลายคนๆ หมดไฟ เลิกกิจการ มาฝากกัน เพื่อที่ทุกคนจะได้ปรับตัวก่อนที่จะสายเกินแก้ จะมีอะไรบ้างไปดูกัน!
1. ไม่พร้อมเสียสละเวลาส่วนตัวและเวลาการเข้าสังคม
หนึ่งในสาเหตุที่พบได้บ่อยมากที่สุด คือคนส่วนใหญ่ไม่พร้อมจะทิ้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตทางสังคมของตัวเอง ในขณะที่เพื่อนๆ ของคุณออกจากออฟฟิศเลิกทำงานตอน 17.00 น. เพื่อออกไปหาความสุขส่วนตัว แต่คุณกลับก้มหน้าก้มตาทำบางสิ่งให้สำเร็จจนลืมมีเวลาส่วนตัว ในขณะที่คนทั่วโลกนั่งอยู่ที่โซฟาในตอนเย็นเพื่อดูทีวีรายการโปรด แต่ผู้ประกอบการกลับยังคงนั่งอยู่ที่ออฟฟิศเพื่อทำงานจนดึกดื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตัวเอง
แต่คุณรู้หรือไม่? การเป็นผู้ประกอบการนั้นเกี่ยวข้องกับการเสียสละอย่างมาก เช็คตัวเองให้แน่ใจว่าคุณพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเลิกเล่นสนุก แต่ทุกคนล้วนต้องมีเวลาว่างจาก “งาน” เพื่อสังสรรค์และใช้เวลาว่างกับเพื่อนและครอบครัว หากคุณสามารถแบ่งเวลาส่วนตัวและเวลาในการเข้าสังคมได้ดี คุณจะสามารถนำไปปรับใช้กับการทำธุรกิจซึ่งจะทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้นได้
2. เลือก “ผู้ร่วมก่อตั้ง หุ้นส่วน และสมาชิกทีม” ผิด!
คุณอาจมีไฟให้กับธุรกิจตัวเอง 100% แต่ถ้า “ผู้ร่วมก่อตั้ง หุ้นส่วน และสมาชิกทีม” ไม่มีความกระตือรือร้นและมุ่งมั่นเช่นเดียวกันกับคุณ คุณก็ไม่มีทางไปถึงเส้นชัยได้ ความขัดแย้งภายในของผู้ร่วมก่อตั้ง หุ้นส่วน และสมาชิกในทีม จะชขัดขวางการเจริญเติบโตของบริษัท ตรวจสอบให้แน่ใจว่าคนที่คุณพาเข้ามาร่วมงาน ไม่ว่าจะในบทบาทไหนนั้นมีวิสัยทัศน์เดียวกันกับคุณ แม้การรวบรวมคนในช่วงแรกอาจจะยาก แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคงในอนาคต เพราะถ้าเริ่มวางอิฐผิดเพียงแค่ก้อนเดียว ก็สามารทำตึกใหญ่ๆ ให้ล้มลงมาได้เหมือนกัน
3. พยายามที่จะทำ “มากเกินไป”
ในบางครั้งการเป็นผู้ประกอบการมักอาจทำให้เข้าใจผิดว่าตัวเองจะต้องรับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ให้ได้มากที่สุดหรือทำทุกอย่างให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในขณะที่คุณแบกทุกอย่างไว้บนบ่ามากเกินไป มันก็สามารถพังลงมาได้ง่ายเช่นกัน แทนที่คุณจะจัดการงานทุกอย่างด้วยตัวเอง เปลี่ยนเป็นรู้จักที่จะมอบหมายงานหรือหน้าที่ให้กับคนอื่นที่มีความสามารถในส่วนนั้นๆ เป็นคนจัดการ หลังจากนั้นคุณจะสามารถทุ่มเทพลังทั้งหมดที่มีไปกับการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างเต็มที่ โดยไม่เสียเวลาไปกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
4. ไม่พึ่งพาผู้เชียวชาญในยามที่จำเป็น
ในบางครั้งที่เจอกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เกินกว่าจะรับมือเองได้ คุณอาจต้องอาศัยการพึ่งพาคนอื่นโดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีความรู้เฉพาะในด้านนั้นๆ แต่อาจะเป็นเพราะความดื้อรั้นคิดว่าตัวเองจะสามารถจัดการปัญหาได้เองโดยไม่ต้องเสียเงินเพื่อจ้างคนที่มีความเชี่ยวชาญมาดูแลจนอาจทำให้สิ่งที่เจอกลายเป็นปัญหาใหญ่กว่าเดิม
ดังนั้นการเป็นผู้ประกอบการนั้นจำเป็นต้องรู้ว่าตัวเองเก่งอะไรและส่วนใดที่ต้องพึ่งพาผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจริงๆ เช่น คุณเก่งเรื่องทำอาหารแต่ไม่เก่งทำการตลาดก็จ้างคนที่ทำการตลาดเก่งๆ มาคิดแคปเปญช่วยโปรโมทธุรกิจ หรือถ้าคุณเป็นคนทำธุรกิจเก่งแต่ไม่ถนัดเรื่องการทำอาหาร คุณก็จ้างคนที่ทำอาหารรสชาติดีและเอาเวลาไปพัฒนาแผนการทำธุรกิจให้เติบโตเป็นต้น
5. ยอมจำนนต่อความคิดด้านลบ
การเป็นผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะคุณมักจะได้รับความคิดแง่ลบจากคนรอบข้างไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ครอบครัว รวมไปถึงคนแปลกหน้า และถ้าคุณยอมจำนนปล่อยให้ความคิดด้านลบครอบงำตัวเองจะส่งผลกระทบต่อตัวคุณเป็นอย่างมากและอาจส่งผลร้ายมากกว่าที่คิด ซึ่งความคิดแง่ลบส่วนใหญ่นั้นไม่เคยเข้าใจคุณและไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ถ้าคุณเก็บเอามาใส่ใจพวกที่ไม่หวังดีก็จะได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ ดังนั้นอย่าให้ใครมากำหนดว่าคุณสำเร็จหรือล้มเหลว หากมีใครที่เอาความคิดแง่ลบมาโยนใส่คุณ ให้คุณเปลี่ยนมันเป็นแรงจูงใจเพื่อพาตัวเองไปสู่จุดมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้
การเป็นเจ้าของธุรกิจเป็นเรื่องที่ยากมากกว่าที่คนอื่นคิด แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนก็มักจะสนใจในวันที่คุณประสบความสำเร็จแล้วเท่านั้น ดังนั้นคุณเองก็อย่าเพิ่งหมดความพยายามกับสิ่งที่ทำอยู่ เชื่อได้เลยว่าสักวันหนึ่งสิ่งที่คุณตั้งเป้าหมายเอาไว้จะสำเร็จได้ในสักวันหนึ่งแน่ๆ
ที่มา : https://bit.ly/3XpZrSq