ทำไมถึงไม่ควรโพสต์เป้าหมายของตัวเองลงโซเชียล? เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ว่าจะทำอะไร จะไปไหน หรือมีเป้าหมายอยากทำอะไร ชอบ “โพสต์” ลงโซเชียล ซึ่งแต่ละคนก็ต่างมีวัตถุประสงค์ในการใช้โซเชียลต่างกัน บางคนแค่อยากโพสต์เก็บเป็นความทรงจำของตัวเอง แต่บางคนก็แค่อยาก “อวด” ชีวิตให้คนอื่นเห็น แน่นอนว่าบางเรื่องโพสต์ได้ แต่บางเรื่องก็ “ไม่สมควร”
ดังนั้น เพราะอะไร “เป้าหมายของชีวิต” ถึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรโพสต์ลงโซเชียล “5 เหตุผล” ต่อไปนี้ คือ เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่จะให้คำตอบคุณเอง
เหตุผลที่ 1 การได้รับคำชมก่อนที่จะทำเป้าหมายสำเร็จ ทำให้คุณมีโอกาสที่จะ “ไม่ทำต่อ” สูงมาก
เรามักเห็นผู้คนมากมายตั้งสเตตัสเกี่ยวกับ “เป้าหมายในชีวิต” ของพวกเขา โดยเฉพาะในช่วงต้นปีแบบนี้ ที่หลายคนมักจะลิสต์เป้าหมายที่ต้องการทำให้ได้ภายในปีนี้ และโพสต์ลงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือช่องทางโซเชียลอื่น ๆ ของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็น ออกกำลังกายมากขึ้น, ลดน้ำหนัก, เพิ่ม skill ใหม่ ๆ, หาแฟน ฯลฯ ซึ่งสิ่งที่ตามมาที่เรามักเห็นกันก็คือ จะมีคนมากมายเข้ามาคอมเมนต์ให้กำลังใจและชื่นชม หากมองเพียงผิวเผิน ใคร ๆ คงมองว่านี่เป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้มีกำลังใจในการทำสำเร็จมากขึ้น
แต่แท้จริงแล้วจากงานวิจัยของ Peter Gollwitzer และเพื่อนร่วมงานของเขา พบว่า เมื่อมีคนสังเกตเห็นเป้าหมายและตัวตนของคุณ การรับรู้ทางสังคมเหล่านั้น แม้จะเป็นรางวัล แต่อีกนัยนึงคือ อาจทำให้คุณลดความพยายามลงก็ได้ ดังนั้น หากเป้าหมายของคุณเชื่อมโยงกับตัวตนอย่างใกล้ชิด เป็นการดีที่สุดที่จะเก็บไว้กับตัวคุณเอง เพราะการได้รับคำชมหรือการสรรเสริญก่อนเวลาอันควร อาจทำให้คุณรู้สึกว่าคุณบรรลุเป้าหมายไปแล้ว และโอกาสที่คุณจะทำต่อมีน้อยมาก
ที่มาจากงานวิจัย :
เหตุผลที่ 2 การได้รับคำชมหรือการยกย่องที่ตัวบุคคล อาจทำให้แรงจูงใจของคุณลดลงกว่า “การสรรเสริญหรือชื่นชมที่กระบวนการ”
ยกตัวอย่างเช่น คุณโพสต์ลงโซเชียลว่า คุณต้องการที่จะพูดภาษาจีนให้ได้ และทุกคนต่างตอบด้วยการชมเชยคุณว่า “ว้าว! คุณเก่งมาก ๆ” ซึ่งนี่เป็นการชื่นชมที่ตัวคุณ เมื่อคุณสอบภาษาจีนไม่ผ่าน อาจทำให้รู้สึกพ่ายแพ้ และทำให้ขาดแรงจูงใจในการบรรลุเป้าหมายต่อไป ขณะเดียวกัน แต่ถ้ามีคนคอมเมนต์ชมโดยเน้นกระบวนการหรือวิธีการที่คุณทำ เช่น “เยี่ยมมากที่คุณจะฝึกคำศัพท์ใหม่ทุกวัน!” สิ่งนี้จะทำให้คุณรู้สึกมรแรงจูงจมากกว่า เพราะเหมือนกับว่ามีคนสนับสนุนในสิ่งที่คุณจะทำ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้การันตีว่าคุณจะทำสำเร็จหรือไม่
ดังนั้น จะดีที่สุดหากคุณไม่บอกใครเลย จนกว่าจะทำสำเร็จจริง ๆ หรือหากคุณต้องการที่จะโพสต์ลงโซเชียลจริง ๆ ลองปรับวิธีหรือกลยุทธ์ในการโพสต์ที่คุณรู้สึกว่าเมื่อโพสต์ไปแล้ว จะเป็นผลดีกับคุณมากกว่า เช่นการตั้งเป้าหมายอย่างแน่ชัดไปเลยว่า “วันนี้ฉันจะท่องภาษาจีนให้ได้ 50 คำ”
ที่มาจากงานวิจัย :
เหตุผลที่ 3 หากคุณเป็นมือใหม่และเพิ่งสร้างเป้าหมายแรก การได้รับคำติชม “เชิงลบ” สามารถหยุดคุณได้เลยทันที!
การเป็นมือใหม่ ที่ยังไม่เคยทำ หรือมีเป้าหมายใดมาก่อน หากคุณต้องการที่จะโพสต์เป้าหมายของตัวเองลงโซเชียล สิ่งที่ต้องมีคือ “จิตใจต้องแข็งแกร่ง” เพราะการที่คุณลงโซเชียลนั่นเท่ากับว่า ใคร ๆ ก็สามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ แน่นอนว่าความคิดเห็นเชิงบวกอาจสร้างกำลังใจคุณ และเป็นผลดีกับคุณมาก ๆ แต่ในขณะเดียวกัน คุณก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงความคิดเห็นเชิงลบที่ไม่เห็นด้วยกับคุณได้ ยิ่งความคิดเห็นเชิงลบนั้นเป็นของคนใกล้ตัว ถ้าคุณไม่สามารถยอมรับมันได้ แทนที่คุณจะมีแรงฮึดสู้ อาจกลายเป็นบั่นทอน จนคุณหมดความมั่นใจที่จะทำไปเลย
เว้นเสียแต่ว่าคุณเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายแล้ว ได้ฝึกจิตใจจนแข็งแกร่งไม่มีอะไรต้านได้แล้ว การฟังแต่ความคิดเห็นเชิงบวกเหมือนกับมือใหม่ อาจจะไม่ส่งผลดีกับคุณสักเท่าไร แต่หากคุณอยากก้าวขึ้นไปอีกขั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “รับฟังความคิดเห็นเชิงลบ” เพื่อเป็นการ “ติเพื่อก่อ” ให้คุณรู้ว่าตัวเองขาดอะไร หรือมีอะไรที่ต้องปรับปรุงบ้าง
ที่มาจากงานวิจัย :
เหตุผลที่ 4 การประกาศ “เป้าหมาย” ของตัวเองให้คนอื่นรู้ไม่ได้ผลเสมอไป
เคยคิดย้อนกลับไปหรือไม่ว่า กี่ครั้งแล้วที่คุณรู้สึกล้มเหลวหลังจากโพสต์เป้าหมายลงสู่สาธารณะ
การประกาศให้โลกและคนทั่วไปรู้ว่าคุณกำลังจะทำอะไร อาจไม่ได้ผลเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คน ๆ นั้น เป็นใครก็ไม่รู้ เป็นเพียงคนแปลกหน้าบนโลกโซเชียลเท่านั้น ถ้าพวกเขาเข้ามาแสดงความคิดเห็นที่ไม่ดี หรือไม่ตรงกับคุณ ก็อาจลดความมั่นใจของคุณได้ทันที ขณะเดียวกัน หากคุณบอกกับเพื่อนสนิทที่รู้จักนิสัยใจคอของคุณจริง ๆ และสามารถให้คำปรึกษาและให้กำลังใจกันได้ตลอด มักส่งผลดีต่อคุณมากกว่า
เห็นได้จากงานวิจัยโดย George Cvetkovich พบว่า เมื่อกลุ่มตัวอย่างจากงานวิจัยทดลองบอกคนสนิทเกี่ยวกับเป้าหมายของพวกเขา สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนในการบรรลุเป้าหมายได้มากกว่าการบอกใครก็ไม่รู้
หรืออย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Dominican พบว่า มากกว่า 70% ของผู้เข้าร่วมงานวิจัย รายงานความสำเร็จหรือความคืบหน้าของเป้าหมายกับเพื่อน สำเร็จมากกว่า 35% ที่พูดกับคนแปลกหน้า
สรุปก็คือ คุณสามารถบอกคนอื่นได้ว่าเป้าหมายของคุณคืออะไร แต่คน ๆ นั้น จะต้องเป็นเพื่อนหรือคนสนิทที่คุณรู้สึกไว้ใจ คนที่เป็นพาร์ทเนอร์ หรือคนที่คุณทำงานด้วยมากกว่า คนที่คุณไม่รู้จัก หรือไม่ได้เชื่อใจ เพราะส่วนใหญ่การพูดกับคนแปลกหน้าทุกคนมักพูดในสิ่งที่เวอร์กว่า ไม่ได้พูดตามหลักความเป็นจริง ดังนั้น ถ้าคุณอยากบรรลุเป้าหมาย ไม่จำเป็นเลยที่จะต้องโพสต์ลงโซเชียล เพราะนอกจากจะไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว ยังอาจทำให้ “เป้าหมาย” ไม่สำเร็จได้
ที่มาจากงานวิจัย : ,
เหตุผลที่ 5 การได้ยินเกี่ยวกับ “การแข่งขัน” อาจทำให้คุณต้องถอย เพราะรู้สึก “แพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่ม”
คุณเคยเล่าความฝันอันยิ่งใหญ่ของคุณให้ใครฟังไหม? เพียงเพื่อให้พวกเขารู้ว่ายังมีคนอีกมากมายที่พยายามทำสิ่งเดียวกันนี้ แม้ความคิดเห็นที่คุณได้จะมีเจตนาที่ดี แต่บางครั้งก็อาจส่งผลเสียต่อความพยายามของคุณได้ ในการวิจัยหนึ่ง นักวิจัยพบว่า เมื่อนักเรียนเห็นว่ามีการแข่งขันสูง พวกเขาจะลดความพยายามในการเอาชนะทันที เพราะพวกเขารู้สึกว่า แข่งไปก็ไม่ชนะ
แต่ทั้งนี้ยังมีอีกด้านหนึ่งที่ “การแข่งขัน” สามารถส่งเสริมความพยายามของคุณได้ นั่นก็คือ ถ้าการแข่งขันเป็นการแข่งขันทางกายภาพเช่น “ออกกำลังกาย” เพราะการออกกำลังกายจะทำให้เราได้สัมผัสจริง ๆ ว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่? กลับกัน แต่ถ้าเป็นการแข่งขันด้าน “ความจำ” หากจำส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ไ่ด้ จะยิ่งทำให้คนเหล่านั้น รู้สึกไม่มั่นใจทันที
ดังนั้น อาจจะเป็นการดีที่สุดอีกเช่นเคย ที่เราทุกคนควรรักษาเป้าหมายของชีวิตอันยิ่งใหญ่ไว้กับตัวเอง และมุ่งหน้าออกไปโดยที่ไม่ต้องสนใจถึงการแข่งขันที่คุณเผชิญอยู่ แม้บางครั้งอาจจะแพ้ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ แต่อย่างน้อยก็ถือว่าครั้งหนึ่งคุณได้ลงมือทำและจริงจังกับมันก็พอแล้ว
ที่มาจากงานวิจัย :,
อย่างไรก็ตาม หากคุณยังอยากที่จะโพสต์เป้าหมายของคุณลงโซเชียลต่าง ๆ อาจต้องทำอย่างมีกลยุทธ์ ไม่ใช่แค่ลงไปเฉย ๆ ว่าอยากทำอะไร เช่น ทำแล้วได้อะไร ถ้าไม่ได้อย่างที่หวังจะรู้สึกอย่างไร จะทำอย่างไรต่อไป และที่สำคัญคือ จะยอมรับผลที่ตามมาได้หรือไม่?
ที่มา :