ว่างแล้วรู้สึกไร้ค่า อาจไม่ใช่เรื่องของจิตใจ! แต่คุณอาจกำลังเป็น “โรคเสพติดงานยุ่ง” 5 สัญญาณเตือนที่จะบอกว่าคุณเป็นหรือไม่?

286

เช็กด่วน! ถ้าว่างแล้วรู้สึกไร้ค่า นี่อาจไม่ใช่แค่เรื่องของจิตใจ แต่คุณอาจเข้าข่ายเป็น “โรคเสพติดงานยุ่ง”!!

เคยสังเกตตัวเองกันไหม? ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งไม่มีเวลาเอาซะเลย เพราะวัน ๆ เอาแต่ทำงาน นอน แล้วก็ตื่นมาทำงานอีก แน่นอนว่าการที่คุณขยันทำงานเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั่นหมายความว่าคุณจะประสบความสำเร็จในไม่ช้า แต่ถ้าคุณถึงขั้นที่เรียกว่า “บ้างาน” อยากทำงานตลอดเวลา ไม่อยากว่าง ว่างแล้วรู้สึกไร้ค่า บางคนถึงขั้นรู้สึกผิดเมื่อต้องหยุดพักผ่อน บางทีนี่อาจไม่ใช่แค่เรื่องของจิตใจหรือความรู้สึก แต่คุณอาจกำลังเป็น “โรคเสพติดงานยุ่ง” ภาวะที่มนุษย์เงินเดือนหลายคนเป็นโดยไม่รู้ตัว!

โดยความหมายของภาวะนี้ก็คล้าย ๆ กับการเสพติดอื่น ๆ แต่มาในรูปแบบของการเสพติดการทำงานหนัก หมกมุ่นอยู่กับการทำงานตลอดเวลา ทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่อการทำงาน บางคนถึงขั้นทำงานในวันหยุดด้วย และไม่สามารถหยุดได้จนกว่าจะประสบความสำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายที่ตัวเองตั้งไว้ เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คุณคิดว่าคุณเป็นหรือไม่? ถ้ายังไม่รู้ 5 สัญญาณเตือนต่อไปนี้จะบอกคุณเองว่าคุณแค่ชอบทำงานหรือคุณถึงขั้นบ้างานและกำลังเสพติดงานยุ่ง!

1. ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความเครียดเข้ามาแทนที่ความสามารถ สมาธิ และประสิทธิผล

เมื่อคุณเครียด คุณมักจะรู้สึกเหนื่อยและฟุ้งซ่าน ซึ่งสิ่งนี้คือสิ่งที่จะไปขัดขวางความสามารถในการตัดสินใจและการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ราวกับว่าคุณจะทำทุกอย่างด้วยความสามารถที่ลดลง ดังนั้น ผลที่ตามมาคือ คุณต้องใช้เวลานานกว่างานจะสำเร็จ หรือเผลอ ๆ งานอาจไม่เสร็จตามกำหนดได้ด้วยเช่นกัน

2. คิดไม่ออก ความคิดสร้างสรรค์น้อยลง

ในทำนองเดียวกัน ความยุ่งทั้งจากการทำงานและจิตใจมักขัดขวางความสามารถทางความคิด ยิ่งคุณยุ่ง และความรู้สึกเครียดเริ่มเข้ามาครอบงำ ความสามารถในการคิดนอกกรอบหรือความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสิ่งใหม่ ๆ ในที่ทำงานของคุณ จะลดน้อยลงในทันที ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งคุณและงานของคุณแน่นอน ดังนั้น ทางที่ดีการรักษาทักษะเหล่านี้ให้คงอยู่และเฉียบแหลมอยู่ตลอด เป็นสิ่งที่คุ้มค่าเกินกว่าสิ่งใด โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ที่มีความซับซ้อนทางนวัตกรรม เทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ

3. เริ่มส่งผลเสียต่ออารมณ์ของคุณ ไม่มีความสุข อารมณ์เสียง่าย และหงุดหงิดบ่อย

ง่ายมากที่คนเราจะเคยชินกับการทำงานยุ่ง ๆ อย่างหนักหน่วง รู้ตัวอีกทีกลายเป็นว่าคุณได้ละเลยตัวเองเป็นประจำ เพียงเพราะต้องการ “ทำสิ่ง ๆ ต่างให้สำเร็จ” เมื่อชีวิตคุณยุ่งมากจนแทบไม่มีเวลาสนุกกับมัน หรือแม้แต่ดูแลตัวเอง ร่างกายเริ่มมีสัญญาณเตือน เจ็บป่วยบ่อย อารมณ์ไม่ดี ขี้หงุดหงิด เครียด วิตกกังวล มีความสุขน้อยลง หรือบางคนถึงขั้นซึมเศร้า

จงรู้ไว้เลยว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ แต่คุณกำลังเสพติดงานยุ่งของจริง ทำงานหนักไม่ได้แปลว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป เพราะความสำเร็จในหน้าที่การงานที่แท้จริงคือ คุณสามารถทำงานเพื่อความสำเร็จไปพร้อม ๆ กับการมีความสุขทั้งชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

4. คิดถึงแต่งาน จน “พลาด” หลายอย่างในชีวิต

ใครที่ตารางงานในแต่ละวันแน่นเอี๊ยด ทำแต่งาน จนไม่มีเวลาพักผ่อน วันทำงานก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ วันหยุดก็ไม่ได้หยุด ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิต เพราะมัวแต่กลัวว่างานจะไม่เสร็จ อย่าลืมว่าชีวิตดำเนินไปเร็วมาก แป๊บ ๆ 1 ปี 2 ปี

ถ้าคุณยังมัวแต่ก้มหน้าทำงานจนลืมโฟกัสชีวิตส่วนตัวและสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ตัว คุณอาจพลาดบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกับคุณไปก็ได้ อย่าทำงานจนลืมใช้ชีวิต คุณควรหยุดพัก หันมามองตัวเอตรไปใช้ชีวิต ไปเที่ยว และซึมซับความรู้สึกเหล่านั้นไว้ เหมือนกับว่าคุณกำลังชาร์จพลังเพื่อกลับไปทำงานได้อย่างเต็มที่อีกครั้ง แทนที่จะทำงานอย่างหนักเพียงอย่างเดียว

5. สับสนระหว่าง “งานยุ่ง” กับ “ประสบความสำเร็จ”

ความยุ่งวุ่นวายสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งก็คือ คุณคิดว่ามันคือมาตรฐานของสังคม คิดว่าต้องทำงานหนักเพื่อให้ประสบความสำเร็จ เจ้านายเห็นผลงาน ได้เลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ได้โบนัส หรืออย่างคนที่เป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ชีวิตมักยุ่งจนแทบไม่มีเวลาส่วนตัว แน่นอนว่ามันคือแรงผลักดันในการทำงาน แต่อีกแง่มุมหนึ่งถือว่าเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่

เพราะมันไม่ใช่แค่เป็นแรงผลักดัน แต่ยังเป็น “แรงกดดัน” และก่อให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะเมื่อคุณต้องอยู่ในสังคมที่ยกย่องคนทำงานหนัก ความยุ่งไม่ได้นำพามาซึ่งความสำเร็จ แต่นำพาความเครียดที่สามารถฉุดรั้งหน้าที่การงานของคุณต่างหาก

ยุ่งไม่ได้แปลว่าสำเร็จ แต่ว่างก็ไม่ได้แปลว่าสำเร็จแล้วเช่นกัน! ถ้าวันนี้คุณกำลังติดกับดักของความยุ่ง เพียงเพราะอยากประสบความสำเร็จเร็ว ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับไม่ใช่ความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจ แต่กลายเป็นทำลายร่างกาย จิตใจ ความรู้สึกของทั้งคุณ และคนรอบข้างของคุณ

ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่คุณจะต้องปรับเปลี่ยนชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวให้สมดุลกัน ปรับตารางการทำงานใหม่ เพิ่มเวลาพักผ่อนเข้ามาในตารางบ้าง เลิกนอนดึกโดยไม่จำเป็น วันว่าง ๆ หาเวลาพาตัวเองไปพักผ่อน ไปเที่ยวบ้าง ปรับวิธีคิดในการทำงานให้ควบคู่ไปกับความสุข และสำคัญที่สุดคือ ให้ความสำคัญกับตัวเอง รวมถึงความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว คนรัก และเพื่อนรักของคุณ ถ้าคุณทำได้ คุณจะเป็นคนหนึ่งที่ชีวิตสมบูรณ์แบบจนน่าอิจฉาเลยทีเดียว

ที่มา :