“เงินทุน” นอกจากจะเป็นเรื่องสำคัญ ยังเป็น “ปัญหาหลัก” สำหรับมนุษย์เงินเดือน คนที่กำลังทำงานประจำ แต่มีฝันอยากเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเอง และต้องการเงินลงทุนสักก้อน แต่การจะไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินก็อาจเป็นเรื่องใหญ่เกินไป แถมยังทำให้ต้องเป็นหนี้เพิ่มด้วย ดังนั้น การมีเงินเก็บของตัวเองดูจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า และมีความเสี่ยงน้อยกว่า แต่ถ้ายังไม่มี หรือมีไม่มากพอ ก็ควรเริ่มวางแผนการเก็บเงินตั้งแต่เนิ่น ๆ ด้วย 7 เทคนิคออมเงินต่อไปนี้!
เทคนิคที่ 1 กำจัด “หนี้” ให้หมดเสียก่อน
“หนี้” ถือเป็นภาระทางการเงินหนึ่งที่หลาย ๆ คนต้องจ่ายแทบทุกเดือน ไม่ว่าจะเป็นหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้รถยนต์ หนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต ฯลฯ ซึ่งอาจทำให้คุณเสียโอกาสหลาย ๆ อย่างไปได้ โดยเฉพาะการเริ่มต้นธุรกิจ เนื่องจากไม่มีเงินในการลงทุนที่มากพอ ดังนั้น ถ้าอยากทำธุรกิจอย่างสบายใจ และมีเงินทุนเพียงพอ ควรกำจัดหนี้ที่มีให้หมดก่อน
เทคนิคที่ 2 ลดค่าใช้จ่ายให้เหลือเท่าที่จำเป็น
คุณจะมีหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่มีรายได้จำกัดได้ยังไง? ดังนั้น เทคนิคต่อมาที่ควรทำเพื่อการออมเงินให้ได้มากขึ้นก็คือ ควรลดค่าใช้จ่ายในแต่ละวันหรือแต่ละเดือนลง ให้เหลือแค่ที่จำเป็น เช่น จากเคยต้องออกไปกินข้าวนอกบ้านมื้อหนัก ๆ ทุกวัน อาจเปลี่ยนเป็นสัปดาห์ละ 1-2 วัน หรือจากช้อปปิ้งออนไลน์ตลอดเวลา ห้ามใจซื้อแค่ของที่จำเป็นเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงตัวเองครั้งนี้ อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านการเงินครั้งใหญ่ของคุณเลยก็ได้
เทคนิคที่ 3 เตรียมเงินกองทุนฉุกเฉินให้พร้อม
ก่อนที่จะมุ่งไปที่การสร้างเงินทุนสำหรับธุรกิจ ควรมีเงินสดของตัวเองให้มากพอและมั่นใจก่อนว่าถ้าออกจากงานประจำที่ทำอยู่ แล้วมาเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นของตัวเองจะไม่เดือดร้อนในภายหลัง ซึ่งต้องไม่ได้มีแค่เงินสำหรับเงินทุนเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมี “เงินทุนฉุกเฉิน” ให้เพียงพอในกรณีที่มีเรื่องให้ต้องจ่ายแบบไม่ทันตั้งตัว แต่ถ้าหากไม่สามารถมีกองทุนฉุกเฉินก้อนใหญ่เพื่อจ่ายค่าใช้จ่ายได้ อาจต้องมีแผนสำรองอื่น หรือทำงานเพิ่ม เพื่อให้แน่ใจว่าจะมีเงินพียงพอทั้งใช้ชีวิตและทำธุรกิจ
เทคนิคที่ 4 ฝึกตัวเองให้การเก็บออมกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำเป็นประจำ
เป็นเรื่องง่ายมากที่จะจมอยู่กับค่าใช้จ่ายจนไม่ได้คิดถึงการออม รู้ตัวอีกทีไม่มีเงินเก็บเหลือแล้ว ดังนั้น ถ้าอยากออมเงินให้ได้ ควรทำให้การเก็บออมกลายเป็นกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำในทุก ๆ วัน อาจจะเริ่มจากการหยอดเหรียญใส่กระปุกออมสินเล็ก ๆ น้อย ๆ ทุกวัน หรืออาจจะเริ่มจากการแบ่งเงินเป็นสัดส่วน สำหรับเป็นค่าใช้จ่าย และเก็บออมสักประมาณ 10% ของเงินเดือน แยกไว้ในบัญชีธนาคารสำหรับออมโดยเฉพาะ วิธีนี้ก็จะช่วยให้คุณประหยัดและมีวินัยในการเก็บออมได้มากขึ้น
เทคนิคที่ 5 ตั้งสติ แล้วถามตัวเองว่า “ต้องการสิ่งนี้จริงๆ หรือไม่?”
ทุกครั้งที่อยู่ในร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ร้านเสื้อผ้า หรือร้านเครื่องสำอางที่มีราคาสูง ให้พยายามมีสติอยู่เสมอ ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ก่อนวางของลงในตะกร้าใส่สินค้า ให้ถามตัวเองด้วยคำถามง่าย ๆ ว่า “ฉันต้องการสิ่งนี้จริง ๆ หรือไม่?” เพราะหลายครั้งที่เรามักได้สิ่งที่ไม่ได้ต้องการจะซื้อตั้งแต่แรกเพราะมีอะไรมาดึงดูดใจให้ต้องซื้อ ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจจิง สรรพคุณ ราคา รวมถึงโปรโมชัน แม้จะไม่ค่อยชอบคำถามนี้สักเท่าไร แต่นี่คือเทคนิคหนึ่งที่จะทำให้คุณสามารถหลีกเลี่ยงการใช้จ่ายเงินกับสิ่งที่ไม่จำเป็นได้
เทคนิคที่ 6 ค่อย ๆ เริ่มจากก้าวเล็ก ๆ และดำเนินไปอย่างช้า ๆ
เมื่อคุณเริ่มต้นทำธุรกิจเป็นครั้งแรก มักมีสิ่งล่อใจที่ทำให้รู้สึกว่าต้องทำทุกอย่าง ซื้อทุกอย่าง และพร้อมกันในคราวเดียวกัน ซึ่งสำหรับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ยังไม่มีประสบการณ์มากพอในการจัดการธุรกิจ รวมถึงยังไม่ได้มีเงินทุนมากพอที่จะทำทุกอย่างได้ เพื่อไม่ให้เงินทุนจมหายไป ควรค่อย ๆ เริ่มต้นไปทีละขั้นตอน และทำไปอย่างช้า ๆ ไม่ต้องรีบร้อน เพราะถ้าคุณรีบร้อน มีเงินเท่าไร ใส่ไปหมด แทนที่จะประสบความสำเร็จ อาจกลายเป็นขาดทุนยับเยินก็ได้
เทคนิคที่ 7 นำกำไรที่ได้ มาต่อยอดลงทุนในธุรกิจ
เมื่อคุณเริ่มทำธุรกิจไปได้สักพักจนเริ่มมีผลกำไรตอบแทนมา แทนที่จะนำเงินในส่วนของกำไรไปใช้จ่ายอย่างอื่น หรือแทนที่จะไปกู้เงินมาลงทุนเพิ่มในธุรกิจ จะดีกว่าไหม? ถ้าคุณแบ่งผลกำไรนั้นมาต่อยอดในธุรกิจเดิม หรือลงทุนในธุรกิจใหม่ นอกจากจะช่วยให้เงินงอกเงยขึ้น ยังช่วยให้ธุรกิจสามารถเติบโตต่อไปโดยไม่ต้องเป็นหนี้เพิ่ม
อย่างไรก็ตาม การออมเงินถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญมากสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นทำธุรกิจและไม่อยากเดือดร้อนหมุนเงินไม่ทันในภายหน้า แต่อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญกว่านั้นไม่ว่าจะมีเงินเก็บหรือต้องกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ก็คือ “การบริหารจัดการเงิน” เพราะมันคือตัวที่จะกำหนดได้ว่าคุณจะประสบความสำเร็จหรือไม่? เนื่องจากในขณะที่บางคนสามารถเปลี่ยนเงินกู้สำหรับธุรกิจจากหลักแสนให้กลายเป็นหลักพันล้านได้ แต่บางคนก็พบว่าการมีเงินเก็บของตัวเองเป็นทุนสำหรับธุรกิจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ไม่เป็นหนี้ แถมยังมีความเสี่ยงน้อยกว่า
แต่ไม่ว่าจะทางเลือกไหน ก็ต้องแน่ใจก่อนว่า ตอนนี้ธุรกิจมีการบริหารจัดการเงินและวางแผนทางการเงินที่ดีเพื่อรองรับสถานการณ์ทางการเงินที่บางครั้งอาจอยู่เหนือการควบคุมได้หรือไม่? ถ้าคุณมั่นใจว่าคุณเตรียมพร้อมมาอย่างดี ก็จะช่วยให้คุณสามารถก้าวออกจากประตูแล้วเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้อย่างเต็มที่
ที่มา :