ทิ้งงานประจำที่มั่นคง มาลำบากเพื่อเดินตามความฝัน จนถึงวันมีธุรกิจเสื้อผ้าร้อยล้าน

5846
  • ยอดจำหน่ายเฉพาะเสื้อยืด ปีละ 30,000 ตัว
  • นำระบบ ตัวแทนจำหน่าย มาใช้เพื่อการกระจายสินค้าให้ได้ไวที่สุด
  • นำระบบ Milk Run มาใช้ในการจัดส่งของให้ตัวแทนจำหน่าย เพื่อทำให้ตัวแทนจำหน่ายสามารถสต็อคของได้ตามปริมาณการขาย
  • ให้ความสำคัญกับการจัดการระบบหลังบ้าน เพื่อไม่ให้หน้าบ้านพังไปด้วย

7 Street แบรนด์เสื้อผ้าสายสตรีทของคนไทย เกิดขึ้นจากความชอบ ความรักในด้านการแต่งกายของ คุณวรศักดิ์ ศุภลักษณ์วัจนะ หรือคุณเต๊ะ หนุ่มกรุงเทพแต่กำเนิด วัย 35 ปี อดีตวิศวะกรโรงงานประกอบรถยนต์ญี่ปุ่น ที่อยากมีเงินเดือนเพิ่ม จึงนำเงินเก็บทั้งหมดที่มีส่งตัวเองเรียนต่อโท ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

“ค่าเทอม 1,000,000 กว่าบาท ใช้เงินเก็บจากตอนทำงาน 3 ปี ไม่กินข้าวในห้าง ไม่ฟุ่มเฟือย ส่วนค่าใช้จ่ายส่วนอื่นทำงานพิเศษเพิ่มหลังเลิกเรียนตั้งแต่ 1 ทุ่ม ถึง ตี 2 ”

คุณเต๊ะใช้เวลาเรียนเพียง 2 ปีครึ่ง ก็จบการศึกษา และเมื่อกลับมาไทย ก็ได้เข้าทำงานในส่วนจัดสรรสรรพยากรของธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ เงินเดือนสูง แต่ด้วยความที่มีฝันอยากทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองตั้งแต่อยู่อเมริกา  จากการซึมซับความเป็นนิวยอร์คเป็นเมืองแห่งแฟชั่น ทำให้คุณเต๊ะสนใจการทำเสื้อผ้า รวมถึงความชอบด้านแฟชั่นเป็นทุนเดิม คุณเต๊ะจึงใช้เวลาว่างในช่วงเลิกงาน เริ่มวางแผนและศึกษาการทำแบรนด์ของตัวเอง ในช่วงพักกลางวันด้วยความที่ออฟฟิศอยู่ใกล้ตลาดผ้า ก็ไปเดินดูทำความรู้จักเนื้อผ้าในแบบต่างๆ

หาโรงงานสกรีนเสื้อที่ได้มาตรฐาน ใช้เวลาทำทุกอย่างอยู่ 1 ปี โดยเริ่มจากการสั่งโรงงานมาลองใส่เองก่อน แต่เนื่องจากการพิมพ์ผ้าตามโรงงานต้องมีจำนวนขั้นต่ำในการพิมพ์ คุณเต๊ะเลยเลือกลงทุนในจำนวนน้อยที่สุด คือ 30,000 บาท ได้เสื้อมา 100 ตัว ออกแบบไปเพียงแค่ 1 ลายเท่านั้น

หลังจากที่ได้ล็อตแรกมา คุณเต๊ะเก็บไว้ใส่เอง 10 ตัว ที่เหลือเอาไปลองขายเพื่อน ๆ ในราคาตัวละ 250 บาท ปรากฏว่าขายหมดภายในวันเดียว จึงเริ่มเพิ่มจำนวนจาก 100 ตัวเป็น 200 ตัว 300 ตัว จนถึงหลักพันตัว จาก 1 ลายก็ต้องเพิ่มเป็น 20 – 30 ลาย เพื่อให้เสื้อยืดของเขาดูไม่น่าเบื่อ

เมื่อผลิตสินค้าจำนวนมากขึ้น จึงเริ่มขยายไปสู่การเปิดหน้าร้านที่ แต่เพราะมีทุนน้อยจึงเลือกล็อคที่ค่าเช่าแค่ 40,000 บาทเท่านั้น เป็นมุมอับที่มีคนเดินผ่านน้อยมาก เรียกว่าเป็นทำเลที่แย่ที่สุด แต่ด้วยความคิดที่ว่า ถ้าไม่ลองก็ไม่ได้เริ่มทำอะไรสักที ถ้าล้มก็แค่กลับไปอยู่ที่เดิม เพราะเคยลำบากมาแล้วจึงไม่กลัว คุณเต๊ะ จึงเลือกเช่าล็อคนี้ และใช้วิธีการดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาซื้อเสื้อของเขาด้วยการตกแต่งร้านให้ดูสวยงาม ทันสมัย และน่าเชื่อถือ ในช่วงแรกกิจการขายดี แต่ไม่นานร้านก็ต้องเจอผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ลูกค้าเริ่มไม่มาเดินซื้อของ รายได้เดือนละแสน ก็เหลือเพียงเดือนละ 30,000 – 40,000 บาท ไม่พอแม้จะจ่ายค่าเช่าล็อค

                เมื่อเดินมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่างงานประจำที่ในขณะนั้นเงินเดือนอยู่ที่ 60,000 บาท กับธุรกิจส่วนตัวในฝันที่รายได้ขาดทุนแทบทุกเดือน โดยเฉพาะคนรอบตัวที่บอกว่าให้เลิกทำแค่งานประจำก็เพียงพอและมั่นคง แต่สุดท้ายคุณเต๊ะเลือกที่จะลาออกจากงานประจำ เพื่อจะได้ลุยธุรกิจอย่างเต็มที่ โดยให้เหตุผลกับตัวเองว่า

“ความมั่นคงสร้างเมื่อไหร่ก็ได้ แต่ความฝันปล่อยทิ้งไม่อาจไม่มีโอกาสได้ทำอีก”

                เมื่อลาออกจากงานประจำ คุณเต๊ะเริ่มใช้เวลาหลังจากปิดร้านที่แพตตินั่มไปเปิดบูธตามตลาดนัด ในที่ต่างๆ เพื่อศึกษาลูกค้าจริงๆว่าต้องการอะไร ต้องการเนื้อผ้าแบบไหนกันแน่ เคยทดลองใช้ผ้าเกรดเดียวกันกับแบรนด์ในห้าง ผ้าบาง นิ่ม ลื่น แต่ลูกค้าตลาดนัดกลับมองว่าเป็นผ้าไม่ดีบางเกินไป จึงปรับมาเปลี่ยนมาใช้ผ้าแบบเดียวกับแบรนด์ดังอีกแบรนด์ ที่เนื้อผ้าหนานุ่มแต่ลูกค้าตลาดนัดก็กลับบอกว่าใส่แล้วร้อน กว่าจะได้เนื้อผ้าที่พอดีกับความต้องการลูกค้าทั่วไปมากที่สุด ก็ต้องใช้เวลาอยู่นานในการไปออกบูธ ไปทั่วทุกภาค ได้พูดคุยกับแม่ค้าร้านเสื้อผ้าตลาดนัดแผงข้างๆ ก็ได้รู้ว่า จริงๆ แล้วคนขายเสื้อผ้าตลาดนัดก็อยากขายผ้าดีๆ เพื่อให้ลูกค้าชอบแล้วกลับมาเป็นลูกค้าประจำ โดยตอนนั้นต้องแบกกระสอบเสื้อผ้าขึ้นลงแพตตินั่มจากบันไดหนีไฟเอง เพราะห้างปิดแล้ว  เหนื่อยจนเคยคิดว่า

“การศึกษาก็ดี หน้าที่การงานก็ดี แล้วเรามาทำอะไรอยู่ที่นี่  มาลำบากอะไรอยู่ตรงนี้ ”

แต่ก็เลือกที่จะให้กำลังใจตัวเองอยู่เรื่อยๆ ว่าสักวันมันต้องสำเร็จให้ได้ ในเมื่อพยายามขนาดนี้ ทำการบ้านเยอะขนาดนี้ ตั้งใจ มีวินัย ขยัน อดทนขนาดนี้ หลายคนก็ยังท้อแท้เพราะสภาพเศรษฐกิจ แต่คุณเต๊ะกล่าวว่า “อย่าให้สภาพเศรษฐกิจมาเป็นข้อแม้ ปิดกั้นในการลงมือทำของเรา”

                จุดก้าวกระโดนนของแบรนด์ 7 Street คือการนำระบบตัวแทนมาใช้ จากการนำโมเดลการขายแบบแบรนด์เครื่องสำอางค์ มาใช้ คือระบบตัวแทนจำหน่ายเพราะมองว่ากระจายสินค้าได้ง่าย ควบคู่กับการใช้ Milk Run ระบบการส่งนมที่ส่งให้ตัวแทนจำหน่ายตามความสามารถในการจำหน่ายของร้าน เพื่อไม่ให้สินค้าสต็อคเยอะของเกินไปจนทุนจม พร้อมทั้งช่วยตัวแทนจำหน่ายในการประชาสัมพันธ์และจัดหน้าร้าน เพื่อให้สวยงาม ขายได้