แบรนด์กราโนล่าเจ้าดัง สร้างขึ้นด้วยพลังของลูกในวันที่ครอบครัวมีหนี้ 100 ล้าน

10462

จะไปให้ถึง100ล้าน  “อัครวินท์ อินเตอร์ฟู้ด” 

  • เริ่มรู้จักการทำธุรกิจได้ เพราะ ธุรกิจ CD ที่บ้านกำลังจะปิดตัวลง ต้องหาทุกทนทางที่จะช่วยเหลือครอบครัว เริ่มจากขายเสื้อ ช่วยธุรกิจน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็นของที่บ้าน จนมองเห็นช่องทาง Superfood “กราโนล่า”
  •  “อัครวินท์ อินเตอร์ฟู้ด” ใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็สามารถพัฒนากราโนล่านำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดกว่า 200 สาขา ได้
  • ใช้เวลากว่า 1 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นทำ R&D และแก้ปัญหาเรื่องPackaging จนทุกอย่างเริ่มลงตัว เข้าสู่ปีที่ 3 ของอัครวินท์ อินเตอร์ ฟู้ด ยอดขายก็ก้าวกระโดดมาถึง 60 ล้านบาท
  • เคยถูกปฏิเสธจาก Supermarket รายใหญ่ จึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ Akarawin Interfood พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุด โดยมีความเชื่อว่า “แพคเกจ สวยสะดุดตา ราคาไม่แพง รสชาติอร่อย” จะสามารถสู้กับคู่แข่งได้

ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า เทรนด์มาแรงแซงโค้งในตอนนี้คงหนีไม่พ้นสายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลัง เข้าฟิตเนส การรับประทานอาหารคลีนหรืออาหารเพื่อสุขภาพต่างๆไปจนถึงเครื่องดื่ม ขนมหรือ snack ที่ผุดไอเดียมาประชันกันในท้องตลาดมากมาย ซึ่งในวันนี้เองเราจะพาไปรู้จักกับอีก 1 ธุรกิจที่

ให้ความสำคัญจากการดูแลร่างกายจากภายใน  โดยสร้างอาหารเพื่อสุขภาพอย่าง “กราโนล่าบาร์” ออกมาเอาใจสายรักสุขภาพ ซึ่งใช้เวลาเพียง 5 ปี ก็สามารถนำสินค้าเข้าโมเดิร์นเทรดกว่า 200 สาขา และมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ธุรกิจ 100 ล้านให้ได้ 

แบรนด์  “อัครวินท์ อินเตอร์ฟู้ด” (Akarawin Interfood) ก่อตั้งโดยสาวหล่อคนดังใน Dek-D คุณ บิ๊ว ฌวคินต์ เตชินท์อัครวินท์ ด้วยความชื่นชอบในการรักษาสุขภาพตนเองด้วยการทางมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 15 ปี จนทำให้รู้สึกว่าอยากผลิตอาหารเพื่อสุขภาพให้ตอบโจทย์คนทุกเพศทุกวัยจึงเกิดเป็น  “Granovibes” ขึ้นมา โดยบิ๊ว เล่าให้ฟังว่า แต่ละช่วงชีวิตของเธอมีเรื่องราวต่างๆเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ธุรกิจ มันไม่ง่ายเลยกว่าที่จะก้าวขึ้นมาอยู่ในจุดนี้ที่เราสามารถทำรายได้ 60 ล้านบาทใน 1 ปีที่ผ่านมา

คุณบิ๊ว เกิดและโตที่กรุงเทพฯ เป็นลูกสาวคนโต มีน้องชายอีก 2 คน โดยรวมชีวิตครอบครัวถือว่าค่อนข้างสุขสบาย เพราะคุณพ่อกับคุณแม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับแผ่น CD แบบครบวงจร (มีโรงปั๊ม โรงพิมพ์เป็นของตัวเอง) มีพนักงานในบริษัทกว่า 400 ชีวิต สมัยเด็กเรียนโรงเรียนนานาชาติ พอเข้ามหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนกราฟิกดีไซน์ ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เรียนได้เพียง 2 ปี ก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดจุดเปลี่ยนในชีวิตได้เกิดขึ้น  เมื่อ อินเทอร์เน็ตได้มามีบทบาทในสังคม ทำให้ธุรกิจ CD ของที่บ้านเริ่มชะลอตัว ไม่มีไม่มียอดขาย เครื่องจักร อุปกรณ์ต่างๆ ที่ลงทุนไปกว่าพันล้านบาท เริ่มถูกทิ้งไว้จนกลายเป็นเศษเหล็ก ครอบครัวเข้าสู่ขั้นวิกฤต 

“มีวันนึง บิ๊วและน้อง ป๊า ม๊า นั่งทานข้าวกันอยู่ ตอนนั้นเรายังเด็ก อยู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่จากธนาคารเข้ามาถ่ายรูปที่บ้าน เพื่อเป็นหลักฐาน ว่าหากไม่ยอมจ่ายเงินใช้หนี้ธนาคารให้ครบ ทรัพย์สินในบ้านก็จะต้องถูกยึด ตอนนั้นเราและน้องจึงได้รู้ว่า ที่บ้านมีปัญหา” 

หลังจากที่ธุรกิจแผ่น CD ของครอบครัวไม่สามารถไปต่อได้ คุณพ่อคุณแม่คุณบิ๊วได้ตัดสินใจเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ และด้วยความที่คุณพ่อคุณแม่เป็นคนรักสุขภาพ และทานมังสวิรัติ จึงเลือกทำธุรกิจเพื่อสุขภาพ เริ่มจาก กาแฟดีท๊อกซ์ และน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น จากเงินบางส่วนที่เหลืออยู่ และตัวบิ๊วเองก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด 

หลังจากเช้ามหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ดได้ไม่นาน อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นคนดังแจ้งเกิดใน Dek-D เน็ตไอดอลในยุคแรกๆ เริ่มมีกลุ่มคนติดตาม คุณบิ๊วจึงตัดสินใจลองรับเสื้อผ้ามาขาย โดยใช้เงินเก็บมาลงทุนในครั้งแรก และยังรับรีวิวสินค้าต่างๆ 

“ตอนนั้นรายได้ประมาณ 40,000 บาทต่อเดือน ก็คือมันเยอะมากสำหรับเด็กอย่างเราแล้ว ภูมิใจมาก แต่ก็ยังคิดต่อว่าเราต้องทำอะไรให้มันได้มากกว่านี้อีก”  

 และด้วยความเป็นลูกคนโต รู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อครอบครัว จึงตัดสินใจเข้ามาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว คุณบิ๊วจึงต้องเรียนไปด้วย ขายเสื้อผ้าไปด้วย และยังแบ่งเวลามาช่วยงานธุรกิจของพ่อแม่ โดยใช้ความรู้เรื่องการออกแบบตอนเรียนกราฟิกดีไซน์ มาช่วยออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สินค้าของที่บ้าน แต่ด้วยความที่เกิดมาคนละยุคสมัยกันเลยทำให้ความคิดเห็น ความชอบต่างกัน และทำให้เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้งในการทำงาน  คุณบิ๊วจึงเห็นความสำคัญว่าความแตกต่างระหว่างวัยเป็นเรื่องที่สำคัญ จึงเริ่มคิดอยากทำสินค้าออกมาให้ตอบโจทย์กับความต้องการของแต่ะคน แต่ด้วยปัญหาที่คุณบิ๊วเจอในตอนนั้นคือชื่อของบริษัทยังคงใช้ชื่อเดิม ชื่อเดียวกับตอนทำธุรกิจแผ่น CD อยู่ ทำให้มีปัญหาเรื่องบัญชี และไม่สามารถกู้เงินมาต่อยอด หรือพัฒนาธุรกิจเพื่อสุขภาพของคุณพ่อและคุณแม่ได้  จึงตัดสินใจขอคุณพ่อแยกตัวออกมา เปิดบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อ “อัครวินท์ อินเตอร์ฟู้ด” โดยเธอเป็นคนดูแล และบริหารอย่างเต็มรูปแบบ แต่คุณพ่อก็ยังคอยช่วยดูแล เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทของเธออยู่เรื่อย ๆ เพราะคุณบิ๊วยังถือว่าอ่อนประสบการณ์ด้านบริหารงาน และไม่อยากให้ธุรกิจของเธอต้องล้มลงเหมือนธุรกิจของคุณพ่อ โดยใช้เงินลงทุนครั้งแรกหลักแสนบาท จากการสนับสนุนของครอบครัว

กว่าจะมาเป็น “Granovibes” เจออุปสรรค ความท้าทาย เข้ามาเป็นบททดสอบหลายอย่าง

ด้วยความที่เป็นคนรักสุขภาพมาตั้งแต่เด็กๆ กินมังสวิรัติตั้งแต่อายุ 15 คุณพ่อคุณแม่ก็กินมังสวิรัส เลยสนใจอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับ Super Food เพื่อส่งต่อสินค้าที่มีประโยชน์สู่ผู้บริโภค แต่เพราะคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ ไม่ได้ใส่ใจเรื่องสุขภาพ เท่ากับเรื่องของความอร่อย ทำให้คุณบิ๊วเองมีโจทย์ที่ท้าทาย

 “ทำอย่างไรให้สินค้าของเรามีรสชาติที่อร่อยและมีประโยชน์ เมื่อคนมาซื้อแล้วเขารู้สึกอยากถ่ายรูปคู่กับแบรนด์ของเรา อยากรีวิวสินค้าให้” 

คุณบิ๊วเริ่มต้นธุรกิจจากการลงพื้นที่ตามหากราโนลาของทุกเจ้าที่มีวางขายในท้องตลาด ทั้งของประเทศไทย และของต่างประเทศ ชิมถึงรสชาติความแตกต่าง หาจุดแข็ง จุดอ่อนของแต่ละแบรนด์ และคิดค้นรสชาติที่ยังไม่มีขายในท้องตลาด

“เราต้องดูว่าแบรนด์อื่นเขามีข้อดีอะไรบ้าง ข้อเสียอะไรบ้าง ถ้าข้อเสียที่เขามี เราต้องไม่มี และถ้าข้อดีเขามี 10 อย่าง เราต้องมี 15 อย่าง เรามาทีหลังเขาเราต้องทำได้ดีและมีมากกว่าเขา”

 จากนั้นก็นำไปให้คนในบริษัทชิม ทำ R&D ว่ากราโนล่าแบบที่เธอต้องการจะต้องมีส่วนผสมอะไรบ้าง แล้วก็เริ่มหาข้อมูลว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดต้องไปหาซื้อจากที่ไหนที่ดีที่สุดและมีคุณภาพที่สุด แล้วลงพื้นที่ไปดูวัตถุดิบ ซึ่งบางครั้งก็เจอปัญหาบ้างเช่น สินค้าขาดตลาดเนื่องจากสภาพแวดล้อม  เป็นต้น

จากนั้นก็เริ่มรีโนเวทโรงงานแผ่น CD ของครอบครัวให้เป็นโรงงานผลิตกราโนล่า ทำการศึกษาจนโรงงานของเธอจะผ่านการรับรองจากอย. และ GMP เมื่อสถานที่เสร็จแล้ว คุณบิ๊วก็เดินหน้าต่อในการผลิตสินค้า คุณบิ๊วใช้ความรู้ที่มีทางด้านกราฟฟิค เริ่มออกแบบแพจเกจจิ้งเอง ถ่ายรูปสินค้าเพื่อทำมาใช้โฆษณาเอง ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2 เดือนในการปรับแพ็กเกจให้สมบูรณ์ จากนั้นก็นำไปเสนอขายที่ซุปเปอร์มาเก็ต แต่ก็ต้องผิดหวังเนื่องจากไม่ได้ผลตอบรับเท่าที่ควร คุณบิ๊วเลยกลับมาคิดว่าคุณบิ๊วจึงต้องกลับมาคิดใหม่ว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะอะไร และก็เจอว่า แพ็กเกจขวดแก้ว ยังไม่ตอบโจทย์ ทั้งน้ำหนักที่มากกว่าปกติ ขนส่งลำบาก บรรจุสินค้าได้ปริมาณน้อยกว่าที่ควร และราคาแพง รวมถึงอายุการเก็บรักษาในขวดแก้วก็น้อยกว่าปกติ ทำให้กราโนล่าไม่อร่อย เก็บได้ไม่นานเท่าที่ควร คุณบิ๊วจึงตัดสินใจเปลี่ยน Packaging ใหม่ทั้งหมด ซึ่งก็ทำให้สินค้าล็อตแรกแทบไม่มีกำไรเหลือคุณบิ๊วตัดสินใจนำสินค้ากลับมาทำ R&D ใหม่ทั้งหมด จนได้มาเป็นแพ็กเกจที่ข้างในเป็นถุงอะลูมิเนียมที่ถูกห่อด้วยกระดาษสีน้ำตา รูปลักษณ์สะดุดตา  มีการรีวิวสินค้ามากขึ้น ลูกค้าพอใจและติดใจในสินค้าเรามากขึ้นจนยอดขายปีที่สองขยับขึ้นมาเป็น 20 ล้านบาท

ความสำเร็จที่เกิดจากความตั้งใจที่ “จะไปให้ถึง 100 ล้าน”

คุณบิ๊วเล่าว่า บทเรียนหลายอย่างที่เกิดขึ้นมันทำให้มีพลังในการที่จะทำสินค้าให้ดีขึ้นไปอีก 

ทุกอย่างตั้งแต่การคิด การได้ลงมือทำ การลองผิดลองถูก การรักษาคุณภาพไว้เป็นสิ่งที่สำคัญ 

“บิ๊วลงมือถ่ายรูปเอง ออกแบบเอง และพูดคุยกับลูกค้าเอง ใช้วิธีการสื่อสารทุกช่องทางในออนไลน์ เพื่อจะได้รู้ปัญหาจริงๆและแก้ไขมันให้ได้ตรงจุด” และในการทำธุรกิจแบบมือใหม่ คุณบิ๊วยังแนะนำด้วยว่า 

“ต้องมีความใจเย็น ฟังเยอะๆ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่เขาพูด เขาแนะนำ มันได้ผลจริงๆ คำว่าอาบน้ำร้อนมาก่อนมันคือเรื่องจริง”

ปัจจุบัน อัครวินท์ อินเตอร์ฟู้ด เติบโตจนมีสินค้ากว่า 12 SKU มีขายที่ Tops Supermarket ถึง 137 สาขา ที่ Gourmet Market และ Home Fresh Mart  (ห้างเครือเดอะมอลล์) อีกกว่า 9 สาขา นอกจากยอดขายจะเติบโตแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้คุณบิ๊วภูมิใจมากที่สุด ก็คือสามารถหาเงินมาใช้หนี้ให้ครอบครัวได้แบบไม่เดือนร้อน ด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปี ที่เริ่มทำธุรกิจ อัครวินท์ อินเตอร์ฟู้ด จากหนี้สินของครอบครัวกว่า 100 ล้านบาท คุณบิ๊วก็สามารถใช้หนี้จนเหลือเพียงแค่ 10 ล้านบาทเท่านั้น และคาดว่าภายในปี 2563 นี้ก็จะสามารถปลดหนี้ให้ครอบครัวได้ทั้งหมด ถือเป็นการทำตามความฝันตนเองได้สำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ ด้วยวัยเพียง 30 ปี