ภาพจำของ ก้อง-อรรฆรัตน์ นิติพน ที่ทุกคนเห็นกันจนคุ้นชินคงเป็นการทำหน้าที่พิธีกรรายการอายุน้อย 100 ล้าน กระทั่งคนที่ทันยุครายการตามไปดู, สปอร์ต ฟอร์ ฟัน, Zapp Same Same จนมาถึง ขบคมเซียน หรือแม้แต่ภาพของการเป็นน้องชายอ่ำ อัมรินทร์ ซึ่งในข้างต้นเป็นเป็นเพียงภาพบางส่วนในฐานะคนเบื้องหน้าเท่านั้น
เชื่อว่าน้อยนักที่จะรู้ว่าเขาเป็นผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของ Mushroom Group บริษัทผลิตสื่อที่เปิดมายาวนาน กว่า 16 ปี ซึ่งในบทบาทพาร์ทนี้เองที่อยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับเขาให้มากขึ้น ตั้งแต่แนวคิดการริเริ่ม ก่อตั้งบริษัทจากห้องเช่าเล็ก ๆ จนถึงวันนี้ผลิตไปแล้วกว่า 116 รายการ มีเวลาออนแอร์รวมทั้งหมดร่วม ๆ 10,000 ชั่วโมง การเรียนรู้ในการเป็นผู้บริหารที่เริ่มต้นจากคนที่ทำแทบทุกอย่างในบริษัท จนถึงบทเรียนชีวิตราคาแพงในโลกธุรกิจ และประสบการณ์อันล้ำค่าที่ก่อตัวขึ้นในทุกวัน ซึ่งเขาเอ่ยถึงสองคำอยู่เสมอคือ “การทำไปเรียนรู้ไป” และ “ต้องทำทุกอย่างให้ดีขึ้นทุกวัน”
ไม่เพียงจะผลิตรายการทีวีเท่านั้น ด้วยสิ่งที่เขาเชื่อมั่นและยึดถือมาตลอดในการสร้างสรรค์ผลงานคือวลีที่ว่า “Content Create Community” จึงได้เห็น อายุน้อย 100 ล้าน ไม่ใช่เพียงรายการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจทางหน้าจอทีวีเท่านั้น หากแต่ยกระดับสู่หน้าชีวิตจริง โดยสร้างคอมมูนิตี้ของคนทำธุรกิจที่ต้องการเติบโตไปข้างหน้าพร้อมกัน ขยายองค์ความรู้ที่สั่งสมสู่อะคาเดมี สัมมนา คอร์สเรียน ไปจนถึง Business Solution ซึ่งปีนี้เชื่อเหลือเกินว่ายังจะได้เห็นการยกระดับไปอีกขั้น ฉะนั้นจึงเป็นโอกาสดีในการชวนเขามาพูดคุยถึงระยะทางที่ผ่านมาของ Mushroom Group และการก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ของรายการ อายุน้อย 100 ล้าน รวมถึงสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปในปี 2020 นี้
เริ่มแรกอยากจะให้คุณช่วยเล่าย้อนกลับไปให้ฟังหน่อยว่าคุณเกิดและเติบโตมาในสิ่งแวดล้อมรอบตัวแบบไหน
ผมเกิดเมื่อปี 2520 ตอนนี้อายุ 42 ปี เกิดในครอบครัวที่คุณพ่อเป็นตำรวจ คุณแม่เป็นแม่บ้านเพียงอย่างเดียว บ้านอยู่บางนา อาจจะมีความซับซ้อนและประหลาดดีคือคุณพ่อมีภรรยา 4 คน แม่ของผมเป็นภรรยาคนที่ 4 ผมมีพี่น้อง 9 คนจากแม่ทั้ง 4 คน และพี่น้องทุกคนอยู่บ้านเดียวกัน คุณพ่ออายุเยอะเลยให้อิสระอย่างเต็มในการทำทุกอย่างเอง ออกไปค้นหาชีวิตได้ด้วยตัวเอง เช่น มีโอกาสได้ไปเที่ยวกับเพื่อนตั้งแต่ ป.3-ป.4 ไปต่างประเทศคนเดียว กระทั่งการย้ายโรงเรียนก็ด้วยตัวเอง เลยทำอะไรด้วยตัวเองมาตั้งแต่เด็ก
การที่คุณพ่อให้อิสระการในใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก อาจจะมีความคาบเกี่ยวว่าเกเรก็เกเรเลย กับได้ดีก็ดีเลย ถ้ามองย้อนกลับไปคิดว่าการหล่อหลอมแบบนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร
ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อมาก็ไม่รู้ว่ารอดด้วยดวงหรือว่าอะไรบางอย่าง ตั้งแต่อยู่มัธยมก็ไม่เรียนหนังสือแล้วนะ เข้าห้องเรียนน้อยมาก อยู่มหาวิทยาลัยก็เลือกเรียนกฎหมาย เพราะจะได้ๆไม่ต้องเข้าเรียน อ่านหนังสืออย่างเดียว สิ่งที่ทำให้รอดมาได้เพราะคุณพ่อของผมขออยู่สองอย่าง คืออยากให้ชอบในดนตรีและกีฬา คุณพ่อให้เรียนเปียโนตั้งแต่ ป.4 จนถึงมัธยม เรียนตั้ง 8 ปี แต่ว่าไม่ชอบเลย เป็นสิ่งเดียวที่ทำให้ท่านไม่ค่อยได้ ส่วนกีฬามีโอกาสเป็นนักวิ่ง 100 เมตร ตั้งแต่ ป.2 จนถึงมหาวิทยาลัยปี 3 ซึ่งคิดว่าเป็นตัวชี้นำให้มีวินัยและอยากทำทุกวันให้ดีขึ้น รวมทั้งมีความอดทนในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้อยากทำ
ไม่คิดอยากจะเอาดีในการเป็นนักวิ่ง 100 เมตรไปเลย
ตอนนั้นทำให้รู้ว่าต้องยอมรับอะไรบางอย่างมากกว่า สมัยประถมผมอยู่โรงเรียนอัสสัมชัญ คิดว่าน่าจะวิ่งเร็วเป็นลำดับประมาณ 1 ใน 3 ของโรงเรียน ได้เป็นตัวแทนเขต ตัวแทนจังหวัด แต่พอมัธยมมาอยู่โรงเรียนเตรียมพัฒน์ คนเยอะขึ้น มีคนวิ่งเร็วกว่าเยอะมาก นั่นทำให้การเป็นนักกีฬาที่เมื่อก่อนอยู่อันดับต้น ๆ ต้องยอมรับว่าจริง ๆ แล้ววันที่เราเก่ง จะมีคนที่เก่งกว่าเสมอ เลยได้เรียนรู้ว่าโลกมันใหญ่ต้องยอมรับว่าเราไม่ใช่ผู้ชนะ จาก 100 เมตรคนเดียว ก็เป็น 4×100 เมตร เพราะเราใช่ไม่เบอร์หนึ่งไง
ในช่วงวัยรุ่นไม่คิดอยากจะเข้าวงการบันเทิงอย่างพี่สาวพี่ชายบ้างหรอ
ก็เป็นความท้าทายนะ พี่สาว (คุณอุ๋ม-อาภาศิริ นิติพน) เป็นนางแบบและนักแสดง พี่ชาย (คุณอ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน) ก็เป็นนักร้องและนักแสดง มันก็ดีตรงที่เราเป็นน้องชายของพี่ เขาก็เอ็นดูพาเราไปเจอผู้คน แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจเลยคือก้องน้องอ่ำ แล้วผมอยู่ภายใต้ร่มเงาของพี่มานานเหมือนกัน ทำงานก็อยู่ในบริษัทของพี่ อายุ 19-20 มีโอกาสได้เป็นพิธีกรรายการตามไปดู ช่วงเรียนใกล้จะจบก็เป็นผู้จัดการพี่อ่ำ ได้เดินทางทั่วประเทศ ไปคอนเสิร์ต ออกกองละคร บริษัทดาราวิดีโอก็เลยชวนเล่นละครบ้าง ในช่วงวัยรุ่นเลยมีโอกาสได้เล่นละคร 5 เรื่อง ภาพยนตร์ 4 เรื่อง มิวสิกวิดีโอ 2 เรื่อง ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดี ทำให้นักเรียนกฎหมายอย่างเราได้ใกล้ชิดกับคำว่าวงการบันเทิง
แล้วชีวิตช่วงเริ่มต้นวัยทำงานเป็นอย่างไร
ตอนที่ผมเรียนจบกฎหมายก็มีโอกาสได้ทำงานเป็นนักกฎหมายฝึกหัดที่บริษัทธรรมนิติ เป็นที่ปรึกษาด้านกฎหมายในแง่สัญญาขององค์กร ทำประมาณปีนิดๆ ก็เกิดเป็นทางแยกของชีวิต เดือนมีนาคม ปี พ.ศ. 2543 พี่เขา (คุณอ่ำ-อัมรินทร์ นิติพน) ได้แอร์ไทม์จากช่อง 9 ยุคคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ เป็นผู้อำนวยการ อ.ส.ม.ท. ก็ลอนช์รายการเกี่ยวกับกอล์ฟชื่อ สปอร์ต ฟอร์ ฟัน ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของชีวิตแล้วล่ะว่า จะทำงานเป็นนักกฎหมายหรือทำธุรกิจคอนเทนต์มีเดีย
แรกๆ ทำคู่กัน จนหัวหน้าถามว่าจะเอายังไงกับชีวิต เพราะเวลาทำงานยังส่งแฟ็กซ์สัญญาโฆษณา ใบขอถ่ายรายการโทรทัศน์ เราก็ต้องเลือกว่านักกฎหมายยังไงอาจจะกลับมาก็ได้ แต่โอกาสตรงนั้นไม่ได้มีบ่อยถ้าทำงานกับบริษัทของพี่ ซึ่งทำรายการก็มีโอกาสได้ไปนั่นมานี่ มีเวลานอกเหนือจากงานก็ได้ไปออกกองถ่ายละคร อายุ 23-25 เดินทางไปสนามกอล์ฟทั่วประเทศ คอนเสิร์ตทั่วประเทศ ซึ่งที่บริษัทมีอยู่ 5 คน ผมจึงต้องดูงานเบื้องหลังในออฟฟิศด้วย ตั้งแต่หาโฆษณา เป็นคนซื้อคอมพ์เครื่องแรกให้กับบริษัท ส่วนพี่ชายทำหน้าที่เบื้องหน้า เนื้อหารายการ ก็เริ่มต้นจาก 0 ไม่มีอะไรเลย ก็เป็นชีวิตที่สนุกมากช่วงหนึ่ง
วันที่คิดจะเริ่มต้นทำ Mushroom ตอนนั้นมีไอเดียอะไรบ้าง วางแผนไว้อย่างไร
เป็นความฝันและบทเรียนของผม ย้อนกลับตอนมหาวิทยาลัยปี 4 มีโอกาสได้เป็นพิธีกรรายการชื่อ 2001 ตามไปดู คู่กับ ตั้น พิเชษฐ์ไชย ผลดี และติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี ซึ่งสมัยก่อนเป็นของหมอซ้ง (ทรงวิทย์ จิรโศภิน) แล้วมาทำใหม่ในรูปแบบของคนรุ่นใหม่ ทำอยู่ 6 เดือนก็ถูกปลด เพราะว่าไม่ได้ทำหน้าที่พิธีกรที่ดี ผมคิดว่าเก่งเลยไม่ซ้อม หลังจากที่ถูกปลดก็เก็บความฝันนั้นไว้ แล้วคิดว่าสักวันหนึ่งถ้ามีโอกาสจะกลับมาทำงานตรงนี้อีก ก็ไหลผ่านไป มาทำงานกับพี่ ทำหน้าที่การตลาดและเบื้องหลังของออฟฟิศที่ดี
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2545-2546 ตอนนั้น UBC Inside หรือ True Inside ในปัจจุบันต้องการหาผู้ผลิตรายการทีวีเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์และเซเลบริตี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้โปรดักชัน เฮาส์ ได้เสนองานเข้าไป คนที่บอกข่าวคือคุณโบ๊ต จามร จีระแพทย์ ผมคิดว่ามีโอกาสได้เสนอ Proposal ถ้าขอเป็นพิธีกรได้ก็จะได้ทำรายการในแบบที่อยากทำ เสนอไป 3 รายการ ได้มา 1 รายการ คือ Zapp Same Same กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้ผลิตรายการ โดยเริ่มรายการประมาณกันยายน ปี 2546 พอทำได้สัก 3 เดือนก็ขยับเป็นรายการที่ 2 จนผลิต 3-4 รายการต่อสัปดาห์ ประมาณครึ่งปียอดขึ้นมาเกือบ 10 ล้านบาท เลยคิดว่าควรตั้งบริษัทของตัวเองได้แล้ว โดยอยากได้ชื่อที่คนจดจำได้ง่ายๆ ตอนนั้นมีบริษัท Orange Apple เลยใช้บริษัทชื่อแรกว่า Garlic Group แล้วก็อยากมีแฟมิลีของมันเลยนึกถึง Mushroom เพราะเห็ดทำอะไรก็อร่อย ตั้งแต่ต้มยำยันสเต็ก จนถึงวันที่จดทะเบียน Mushroom Television ในเดือนกันยายน 2547
เล่าภาพของ Mushroom Group ในปัจจุบันหน่อยว่าตอนนี้ทำอะไรบ้าง มีผลงานใดบ้าง
จากที่เริ่มต้นตอนปี 2547 ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปีที่ 16 ตอนนี้ผลิตแล้ว 116 รายการ ถ้านับเวลาออนแอร์ทั้งหมดก็เกือบ 10,000 ชั่วโมง ผลิตเยอะที่สุดคือ 12 รายการต่อสัปดาห์ เสาร์อาทิตย์มีรายการของเราทั้งช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 9 Workpoint อัมรินทร์ และ PPTV นี่คือแผนกผลิตรายการทีวีนะ
เมื่อก่อนเรารับจ้างผลิตรายการหรือ OEM แต่ความฝันของคนผลิตคอนเทนต์คือต้องเป็นเจ้าของเวลา ซึ่งในปี 2549 ถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งหนึ่งคือเรามีรายการของตัวเอง โดยซื้อแอร์ไทม์รายการไม่ธรรมดาต่อจากเขามา ด้วยความไม่รู้ คิดว่าอย่างนี้มันโอเค อายุ 29 ติดลบประมาณ 10 กว่าล้านบาท กินข้าวไม่อร่อยเลย เพราะว่าค่าแอร์ไทม์สูงเกินไป ต้นทุนค่าแอร์ไทม์อย่างเดียว 400,000 บาทต่อเทป เดือนหนึ่งก็ 1,600,000 บาท รวมค่าโปรดักชั่น 2,000,000 กว่าบาท เขาบอกว่าจะขายได้ แต่เดือนแรกได้ 300,000 บาท เดือนต่อมา 400,000 บาท จนพี่น็อต (ชื่อ-สกุล) มาช่วยพาไปช่อง ITV ทำให้แอร์ไทม์ลดลง ตัวเลขเริ่มกลับมาดีขึ้น เกือบจะหายติดลบแล้วนะ แต่แล้ว ITV จอดำคาตาเลย จนเป็นบาดแผลว่าเราจะกลับมาแก้แค้นให้ได้
ช่วงถูกงดออกอากาศ เราต้องหนีตาย ตอนนั้นปรับมาทำโฆษณาแต่ราคาไม่แพง เรียกว่า Scoop Spot ซึ่งเริ่มต้นจากความคิดที่ว่าทำไมทำหนังโฆษณาตัวหนึ่งเป็นล้าน ถ้าเป็นรายการค่าจ้างผลิตตอนละ 50,000 กว่าบาท เราทำหนังโฆษณาสกูปละ 100,000 บาทได้ไหม ปรากฏว่าปีนึงผลิตไปเกือบ 100 ผลงาน ทำให้เติบโตจากตรงนั้น หลังจากนั้นก็มีรายการของตัวเอง ซื้อเวลาแล้วขายแอร์ไทม์เป็นสเต็ปไล่มาเรื่อย ๆ
จุดเปลี่ยนที่สำคัญของบริษัทคือ ปี 2555 อ.ส.ม.ท.ให้ทำรายการ ตอนนั้นก็ลอนช์ 2 รายการพร้อมกัน อายุน้อย 100 ล้าน กับ ขบคมเซียน ผมอายุประมาณ 30 กว่า ฉะนั้นสิ่งที่สนใจคือเรื่องธุรกิจ มีไอเดียว่าฟังคนอายุน้อยที่ประสบความสำเร็จแล้วมันไฟลุกโชน ถ้าผมอยากรู้ คนอื่นก็น่าอยากจะรู้เหมือนกัน เพราะคิดว่าคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจและอยากเติบโตคงมีเยอะ เลยทำรายการอายุน้อย 100 ล้าน ขึ้นมา เริ่มต้น 1 มกราคม 2555
สำหรับรายการอายุน้อย 100 ล้าน เข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว ชวนทบทวนเส้นทางที่ผ่านมาว่าฟันฝ่าอะไรมาบ้าง ได้เรียนรู้สิ่งใด
ตอนแรกคนก็ไม่เชื่อว่าคนไทยจะมีคนอายุน้อยทำธุรกิจถึง 100 ล้านบาท เมื่อก่อนคิดว่าการที่คนรุ่นใหม่ทำธุรกิจถึง 100 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ยากมาก เราก็เดินทางค้นหาธุรกิจเพื่อต่อสู้กับคำพูดนี้ ก็เจอแขกรับเชิญมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งทำยิ่งรู้ว่าคนไทยรุ่นใหม่เก่ง ทำให้เห็นว่าทุกคนสามารถประสบความสำเร็จได้ถ้ามุ่งมั่นพอ นี่คือแก่นของอายุน้อย 100 ล้าน ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ต้นทุนชีวิตแบบไหน การศึกษาเป็นอย่างไร ในช่วงเริ่มต้นของรายการอายุน้อย 100 ล้าน ถูกเปลี่ยนเวลามาสักประมาณ 8 ครั้ง เลวร้ายที่สุดโดนเปลี่ยนมาเป็น 5 ทุ่มครึ่งวันพุธ ไม่มีสปอนเซอร์เลย 6 เดือน ติดลบระนาว แต่เราก็ทำด้วยความเชื่อว่าวันหนึ่งเดี๋ยวเขาก็คงให้โอกาส จนมาอยู่ช่อง Workpoint เราก็ยังคงทำหน้าที่ของเรา คือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการเป็นเจ้าของกิจการ
รายการนี้ยังได้ทำให้เข้าสู่โลกอีกโลกหนึ่งคือ SMEs วันนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 9 ระหว่างทางเราได้เก็บสะสมดาต้าของ SMEs ไว้เยอะ เลย Expand ต่อเป็น Business Solution อย่างเมื่อ 3 ปีที่แล้วเริ่มทำสัมมนาธุรกิจ ซึ่งมีคนมาร่วมฟัง 1,800 คน เป็นสัมมนาเก็บเงินนะ แล้วก็ Road Show อีก 20-30 จังหวัดทั่วประเทศ นี่คือยูนิตของอะคาเดมี่สัมมนา อายุน้อย 100 ล้านยังได้ไปออกอากาศที่ประเทศลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนั้นยังทำให้ผมเข้าใจเรื่องกลไกตลาดทุน เราตัดสินใจร่วมทางกับบริษัท บางกอก โพสต์ ทำให้เข้าสู่กระบวนการ M&A (Mergers and Acquisition) คือ Acquire ไปที่ 51% มีมูลค่าธุรกิจ 300 ร้อยล้านบาท เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 1 ล้านบาท เป็น 80 ล้านบาท
ในการเข้าสู่ปีที่ 9 ของอายุน้อย 100 ล้าน ในปี 2020 จะมีทิศทางเป็นอย่างไรบ้าง จะได้เห็นสิ่งใดบ้าง
ทำให้เข้มข้น คือหลังจากเป็นแรงบันดาลใจแล้ว เราอยากเป็น Know How ที่จับต้องได้ ก็สะท้อนผ่านอะคาเดมี่ แล้วมีเรื่องที่เป็นประโยชน์ของคนทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น พยายามตอบสนองในสิ่งที่ SMEs ต้องการ เป็นเครื่องมือทางการตลาด แฟลตฟอร์มทางดิจิทัล Skill Set ที่ต้องเติมสำหรับธุรกิจที่ถูกดิสรัปชั่น หรือในโลกดิจิทัลที่จะต้องรู้ รวมถึงแหล่งทุน เราก็พยายามที่จะเป็นตัวกลางเพื่อให้ SMEs สามารถก้าวไปข้างหน้า
จะว่าไปแล้วชีวิตการบริหารงานของคุณก็เหมือนว่าเกิดและเติบโตพร้อมกับ Mushroom Group มีเรื่องราวใดบ้างที่คุณประทับใจในการทำบริษัทนี้ด้วยตัวเอง
ยังจำวันแรกที่เปิดออฟฟิศได้ มีเพียงแค่ห้องเล็ก ๆ เช่าเดือนละ 16,000 บาท ก็เห็นการเดินทางและเติบโต แรก ๆ ก็ทำด้วยแพชชั่น แต่หลัง ๆ ก็รู้ว่าต้องมีเป้าหมายและกลยุทธ์ Skill Set, Know How และ Network เพื่อทำให้เดินทางไปสู่เป้าหมาย สิ่งที่สำคัญคือวันที่แพชชั่นหมด ก็ต้องฝึกที่จะเติมเต็มแพชชั่นได้
ก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของธุรกิจ คุณมีหลักการบริหารงานอย่างไรบ้าง
ธุรกิจเปลี่ยนไปทุกวัน ผมยังจำ 5 ปีแรกได้มันสนุกมากเลย ก็ Learning by Doing ไม่ใช่นักธุรกิจที่เก่งอะไรเลย แค่อยากทำทุกวันให้ดีขึ้น หลักการคือพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ ถามว่าเหนื่อยมั้ยก็เหนื่อย ยากมั้ยก็ยาก แต่บอกกับตัวเองแล้วว่าจะทำสิ่งนี้ มุ่งมั่นที่จะทำแล้ว ก็ต้องแลก ทุกอย่างไม่ได้ง่าย ซึ่งตอนนี้ผมเชื่อว่าโลกมันเปลี่ยนไป Disruption ก็ต้องทำมากกว่าคนอื่น รู้เยอะกว่าคนอื่น
ยังทำให้รู้ว่าวันที่เราคิดว่าเก่ง ยังมีคนที่เก่งกว่าเราเสมอ วันที่เรามีทุน จะมีคนที่มีทุนและใหญ่กว่าเราเสมอ ก็กลับมาที่วิ่ง 100 เมตร ทุกคนวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถวิ่งเร็ว นั่นหมายความว่าเราต้องพัฒนาตนเองอยู่เสมอ อย่างวันที่เป็นการตัดสินใจสำคัญที่สุดคือวันที่ร่วมทุนกับบริษัท บางกอก โพสต์ ก็ถามตัวเองว่าวันที่จะเสียความเป็นเจ้าของ เราจะโอเคมั้ย แต่ตอนนั้นก็เชื่อว่าร่วมกับคนที่เก่งกว่า มีประสบการณ์มากกว่า ทำให้เรียนรู้จักการทำธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นในรูปแบบ Corperate ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เลยต้องศึกษา AMC (Asset Management Company) ก็เป็นความท้าทายให้กับผม
————————————————
———————————— ————
คุณเจอช่วงที่โลกเปลี่ยนสองช่วงใหญ่ ๆ เมื่อตอนเข้าสู่วงการสื่อก็หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ปัจจุบันคือยุคดิสรัปชั่น ในฐานะคนทำธุรกิจผลิตสื่อมีการเตรียมพร้อมปรับตัวอย่างไร
สิ่งที่ Mushroom Group และ อายุน้อย 100 ล้าน เชื่อคือ Content Create Community คอมมูนิตี้ของเราคือคนที่มีธุรกิจแล้วอยากเติบโตไปข้างหน้า และเราตั้งใจจะเป็น Ecosystem ของ SMEs ที่มี Service และ Product มาดูแลคอมมูนิตี้ของเรา ที่สำคัญคือเรามีคอนเทนต์อยู่ในทุกแฟลตฟอร์ม นอกจากมีแรงบันดาลใจแล้ว ยูนิตอะคาเดมี่ ยังมี Know How, Skill Set, สัมมนา, คอร์สเรียน Everest และ S100 ร่วมกับธรรมศาสตร์และศรีปทุม และคอร์สเรียน Miracle of Capital จากสิงคโปร์ คอร์สเรียนออนไลน์ Mushroomsuperclass ที่เอาคนที่เก่งที่สุดในแถวหน้าของเมืองไทยมาอยู่ในแฟลตฟอร์มออนไลน์ มียูนิตชื่อ Business Solution ซึ่งเอาดาต้าของคนที่อยู่ใน Ecosystem มาทำให้ผลิตภัณฑ์เติบโตไปข้างหน้า เผื่อใครที่อยากจะ Excerpt เข้าสู่คนกลุ่มนี้ มีสตูดิโอสำหรับให้คนมาเรียนรู้ฟังสัมมนาฟรีชื่อ Young Self Made Millionaire Club หมายความว่าเราเป็นพื้นที่ของคนที่ต้องการจะเติบโต แล้วธุรกิจของเรายังเติบโตไปที่ สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา และเวียดนาม
ถามว่าเป็น Media มั้ย คำตอบคือใช่ เป็น Solution มั้ย ก็ใช่ เป็น Data Management ก็ใช่ นั่นหมายความเราไม่ได้พึ่งพิงแต่ Media เพียงอย่างเดียว ใครที่ต้องการ Excerpt สู่กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ก็ขอให้คิดถึงเรา นี่คือสิ่งที่เราต้องการจะเป็น แต่อันนี้เป็นเพียงแค่ 40% ของเป้าหมายที่เราจะเดินไป เพราะว่าเราต้องการเติบโตพร้อมกับคนที่อยากทำธุรกิจ เราเชื่อว่าในอนาคตทุกคนจะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ไม่ใช่แค่ Career Path แต่คือ Job Path ทุกคนสามารถจะมีธุรกิจได้แม้ว่าจะมีงานประจำก็ตาม หรือคนที่ทำธุรกิจก็ควรจะเติบโต เฟสต่อไปก็ตั้งเป้าที่อยากจะเป็นที่ปรึกษาทางการลงทุน การหาเงินทุน เป็น Networking ต้องการที่จะมีเอ็กซ์โป นี่คือสิ่งที่ต้องการที่จะไปต่อ
นอกจากคำว่า “ถ้ามุ่งมั่นมากพอก็สามารถประสบความสำเร็จได้” พอจะสรุปให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าอะไรที่เป็นคุณสมบัติของคนที่จะสามารถพาธุรกิจไปถึง 100 ล้านอีก
ผมว่า 100 ล้านก็เป็นเป้าหมายทางตัวเลข มันสำคัญคือทำให้รู้ว่าเป้าหมายที่ไปจะเป็นยังไง สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทุกคนสำเร็จได้ คือคิดได้ก่อน ทำก่อน ทำได้สม่ำเสมอกว่า ทุกคนมีความอึดมากกว่าคนอื่น เพราะก็ไม่ง่าย หลายคนที่ไปเจอ เขาบอกว่าคนที่สำเร็จกับคนที่สำเร็จกว่าคือจุดที่ทนไม่ไหวแล้วใครจะอึดได้มากกว่ากัน อันนี้คือหัวใจสำคัญของแขกรับเชิญอายุน้อย 100 ล้าน
แล้วอุปสรรคสำคัญของการทำธุรกิจที่ทำให้ไปไม่ถึง 100 ล้านล่ะ
ถอดใจก่อน หรือทำวิธีการเดิม ๆ ในขณะที่เขาใช้วิธีการใหม่ ผมว่าธุรกิจก็เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าคนเปลี่ยนไป ต้องเข้าใจว่าธุรกิจของเราคืออะไร ลูกค้าเป็นใครกันแน่ จะเข้าถึงลูกค้าอย่างไร และ Value ของธุรกิจอยู่ที่ตรงไหน นั่นคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจที่ได้จากคนที่ประสบความสำเร็จ
มองว่าคุณเป็นอายุน้อย 100 ล้านไหม
Valuation ของเรา 300 ล้านบาท ยอดขายอยู่ที่ 200-300 ล้านบาท
คนทำธุรกิจในวันนี้คงเหนื่อย เพราะต้องเจอกับสารพัดปัญหา คุณมีวิธีจัดการความรู้สึกที่เหนื่อยล้าแบบไหนบ้าง
ผมบอกตัวเองว่าถ้าเหนื่อย หลับไปเดี๋ยวก็หาย เรื่องใจก็แค่มีความเชื่อว่าจะผ่านมันไปได้ ผมได้ประโยชน์จากแขกรับเชิญ ทุกคนที่เชื่อว่าจะสำเร็จ แม้ในวันนี้ยังไม่สำเร็จก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญคือมีเป้าหมายและวิธีการอย่างไร ก็ค่อยๆ เดินไป อย่างน้อยก็หลุดบ้าง เบี้ยวไปบ้าง สุดท้ายถ้าเป้าหมาย ทิศทางและวิธีการชัดก็จะบอกตัวเองได้ ซึ่งสิ่งที่มันเหนื่อยใจเพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าเป็นอย่างไร ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนของเป้าหมายแล้ว ถ้าเรารู้ว่าเป้าหมายคืออะไร อยู่ตรงไหนแล้ว และวิธีการที่กำลังไปต่างจากแผนเดิมแค่ไหน ก็ทำให้ความเหนื่อยใจหายไปได้
มีคำกล่าวที่ว่าปี 2562 เป็นปีที่เศรษฐกิจแย่ที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เป็นปีที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปีข้างหน้า เท่าที่คลุกคลีอยู่กับนักธุรกิจมาคุณมีมุมมองอย่างไร
ผมก็ทำธุรกิจมา 16 ปี เจอนักธุรกิจที่มาให้สัมภาษณ์เป็นพันคน ก็มีคนทั้งคนที่แพ้และชนะ ทุกปีก็ต้องมีคนที่แพ้ แล้วมีคนที่ชัยชนะในวันที่มันยาก นั่นหมายความว่าถ้าใครอ่านตลาด อ่านธุรกิจ มองลูกค้าได้ชัดเจนกว่า ปัจจัยภายนอกก็ไม่สำคัญ ผมเชื่อว่าในทุกหายนะ ทุกความวุ่นวาย มีคนที่สำเร็จอยู่เสมอ เพียงแต่จะทำยังไงก็ได้ให้เราอยู่ ณ ตรงนั้น ตอนนี้หลายอย่างเปลี่ยนเร็ว ถ้าจับความเปลี่ยนแปลงได้เร็วก็มีโอกาสที่จะเป็นผู้รอด เพราะตัวเลขก็บอกแล้วว่าคนที่ธุรกิจถึงร้อยล้านมีน้อยกว่าไม่ถึงร้อยล้าน คนที่เจ๊งมีมากกว่าคนที่สำเร็จ
ทราบว่า Mushroom Group เป็นหนึ่งในธุรกิจที่คุณทำ แล้วมีธุรกิจอะไรอื่นอีก
เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ผมมีแผนลงทุนใน Startup และมีโอกาสเป็นกรรมการในบางบริษัท อย่าง Refinn แฟลตฟอร์มเกี่ยวกับรีไฟแนนซ์ Shippop เกี่ยวกับโลจิสติกส์ และ WorkVenture เกี่ยวกับการหางาน แล้วเปิดร้านอาหาร 2 ร้านคือ Gyuma Yakiniku กับจิ้มแจ่วหมูทอด ร้านเพชร Chateau de Gems และธุรกิจดิจิทัลเอเจนซีอีกหนึ่ง เป็นความท้าทายทำให้ต้องเรียนรู้เรื่องกลไกตลาดทุน
อย่างเวลามีคนมา M&A นั่นหมายความว่าเขามีมีเป้าหมายในการลงทุนอะไร Mushroom Group ก็มีแผนในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี เลยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างคือ ดำเนินการเหมือนกับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เราเป็นบริษัทจากห้องเช่าเล็ก ๆ ที่จะเติบโตสู่ตลาดหลักทรัพย์
———————————————
———————————————
มีวิธีการเลือกลงทุนกับ Starup อย่างไรบ้าง
ดูที่ทีมเริ่มจากชอบทีม แล้วดูว่าสิ่งที่เรามีจะไปเติมเต็มเขาได้หรือเปล่า อย่าง Shippop เติบโตพร้อมกับอีคอมเมิร์ซ ถ้าอีคอมเมิร์ซเติบโต นั่นหมายความโลจิสติกส์ก็จะเติบโต ตอนนี้ส่งสินค้าวันละ 1 ล้านชิ้น คาดว่าถ้าอีคอมเมิร์ซเติบโต จะส่งประมาณ 50 ล้านชิ้นต่อวัน จึงมี Scaleble ที่เติบโตได้
พูดได้ว่าเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ แล้วได้เรียนรู้อะไรไปแล้วบ้าง
ใช้คำว่าหน้าใหม่ถูกต้องแล้ว ไม่มีประสบการณ์อะไร ผมใช้เพียงแค่การศึกษาในเรื่องนั้น และความรู้สึกอะไรบางอย่างในการคุยกับคนที่บริหาร แล้วทุกครั้งก็ได้รู้ว่าคนอื่นเขาบริหารยังไง ซึ่งเด็กรุ่นใหม่เก่งมาก
เห็นอะไรจากการบริหารของคนรุ่นใหม่
เขาเก็บสถิติข้อมูลการเติบโตเป็นรายวันเลย มีเทคโนโลยีเข้ามาเยอะ อย่างผมใช้ Clound System ยังไม่เก่งเลย
เท่ากับว่าก็ย้อนกลับไปถึงการเป็นนักวิ่ง ที่ว่ามีคนที่เก่งกว่า ยิ่งเด็กรุ่นใหม่ก็ยิ่งพัฒนาฝีเท้าขึ้น
เขาวิ่งเร็วด้วยเทคโนโลยี เท่ากับว่าเราต้องมีเขาในการที่จะทำให้เรารู้ในเรื่องที่เราไม่รู้เหมือนกัน
มีคำแนะนำถึงคนรุ่นใหม่ที่คิดฝันจะเปิดโปรดักชันเฮ้าส์หรือบริษัทผลิตสื่อเป็นของตัวเองไหม โดยเฉพาะในยุคดิจิทัลดิสรัปชั่นเช่นนี้
ผมว่าเป็นความท้าทายของคนรุ่นเก่าอย่างผมมากกว่า หนึ่ง – ในอดีตสิ่งที่ผมทำเป็นเรื่องลึกลับ ผู้กำกับหลายคนบอกว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ การที่จะเอาคนคนหนึ่งมาถ่ายรูป ทำภาพเคลื่อนไหว สมัยก่อนอุปกรณ์แพงมาก วิธีการยากมาก มีไม่กี่คนที่มีกล้อง ตัดต่อได้ แต่ปัจจุบันคือทุกคนเกิดมาพร้อมกับโทรศัพท์ที่มีกล้องระดับคุณภาพ ตัดต่อได้จากมือถือ มีโดรนอยู่ในบ้านด้วยซ้ำ การทำวิดีโอเลยเป็นเรื่องที่ง่ายมาก สอง – เมื่อก่อนแม้ว่าจะมีกล้องและตัดต่อได้ แต่ที่ที่จะออกอากาศเป็นเรื่องยาก ทีวีมีแค่ 4-5 ช่อง นั่นหมายความว่าความได้เปรียบคือพวกผมที่มีแอร์ไทม์ ตอนหลังหลักทุกอย่างถูกทำลายราบเป็นหน้ากลอง เพราะ ณ ตอนนี้สำคัญที่สุดคือทุกคนสามารถมีสถานีอากาศทางโซเชียลมีเดีย ภายใต้ต้นทุนที่เป็น 0 เมื่อก่อนเราแข่งกันแค่ไม่กี่ 100 บริษัท ตอนนี้มีคอนเทนต์ที่ต้องนำเสนอสู้กับ 8 ล้านสถานีในยูทูบ นั่นคือความท้าทายของผมในฐานะผู้ผลิตคอนเทนต์
ถ้าจะบอกคนรุ่นใหม่ ก็จะบอกว่าช่วยปราณีคนรุ่นเก่าด้วย (หัวเราะ) สุดท้ายแล้ว Concent Create Community ทุกคนสามารถผลิตคอนเทนต์ สร้างคอมมูนิตี้ของตัวเองได้ นี่คือความท้าทายของโลกคอนเทนต์ในอนาคต เวลาคนมีจำกัด ตาคนมีจำกัด นั่นหมายความว่าเขาติดตามในสิ่งที่สนใจ ในสิ่งที่เป็นตัวเขา Segment และ Fragment ถึงเล็กลงเรื่อย ๆ แล้วก็ต้องเข้าใจว่าธุรกิจของเราคืออะไร และลูกค้าของเราเป็นใครด้วย
ทุกเช้าก่อนมาทำงานบอกอะไรกับตัวเอง
ผมตื่นตี 5 ทุกวันแล้วก็มาทำงาน ตอนที่พระอาทิตย์จะขึ้นก็พยายามนั่งสงบสติอารมณ์ตัวเอง เราต้องทำอะไรภายในวันนี้ อะไรคือสิ่งที่คิดว่าจะต้องทำสำเร็จในวันนี้และวันข้างหน้า ช่วงนี้เจอเรื่องท้าทาย ก็บอกตัวเองเสมอว่า ในฐานะที่เป็นผู้นำบริษัทในการเปลี่ยนแปลงมันก็ไม่ง่าย แต่ต้องทำทุกอย่างให้ดีขึ้นทุกวัน วันที่เหนื่อยที่ท้อก็คงเหมือนพระอาทิตย์ขึ้นพระอาทิตย์ตก ปล่อยวางไว้ แล้วแก้ปัญหาหรือปรับปรุง มันก็จะผ่านไปในทุก ๆ วัน คือสิ่งที่บอกตัวเองทุกวัน
มองถึงวันเกษียณงานของตัวเองไว้ไหม
ยังไม่เคยมอง ไม่รู้ว่าจะเกษียณไปทำไม รู้สึกว่ายังสนุกในความท้าทาย คิดว่าตัวเองคงอายุถึง 90 ก็ต้องทำงานถึง 80 มั้ย ตอนนี้อายุ 40 ปี ผมทำงานตอนอายุ 20 เท่ากับว่าเพิ่งทำงานได้ 20 ปี ถ้าผมจะทำงานทั้งหมดคือ 60 ปี นั่นหมายความผมยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของการทำงานเลย ความรู้ที่ผมมียังน้อย ยังต้องเรียนรู้ต่อไป ซึ่งยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการทำงานของผมเอง