CEO AMA MARINE เติบโตเพราะยึดหลักให้บริการอย่างซื่อสัตย์ ถูกต้อง ตรงต่อเวลาและครบถ้วน

1121

กว่าจะได้กาแฟสักถ้วย ที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการคัดสรร และคั่วบด อย่างลงตัวกับความร้อนที่เหมาะสมชงอย่างพิถีพิถัน จนได้กาแฟที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จและการพาบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับการได้สัมผัสกาแฟชั้นดีสักถ้วยประเทศไทย มี SMEs เกิดขึ้นมากมายมีบริษัทจดทะเบียน นับหมื่น นับแสนแต่มีเพียงไม่กี่ร้อยบริษัท ที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติกาแฟ ของเหล่า CEO ผู้สร้างธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ในตลาด

วันนี้ซีอีโอที่เราขอมาจิบฟาแฟพูดคุยด้วยคือ พี่ฉุ่ย หรือคุณพิศาล รัชกิจประการ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาม่า มารีน จำกัด (มหาชน) ธุรกิจขนส่งของเหลวที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดในการขนส่งน้ำมันปาล์มเป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวัน‍ออก‍เฉียง‍ใต้ กับปรัชญา และแนวคิดที่สามารถพาธุรกิจเข้าจดทะเบียนเป็นรายแรกของธุรกิจขนส่งของเหลวในตลาดหลักทรัพย์ไทย และเติบโตมากว่า 24 ปี และเคยก้าวไปสู่มูลค่าตลาดสูงสุดกว่า 9,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่าเมื่ออ่านคอลัมภ์นี้จบแล้วต้องได้ข้อคิดดีๆ ที่น่าสนใจแน่นอนครับ 

ก่อนอื่นขอเรียนถาม AMA Marine หรือ อาม่า มารีน ผู้ขนส่งของเหลวทางเรืออันดับต้นๆ ของภูมิภาค ผมพูดชื่อถูกไหมครับพี่ฉุ่ย 
ถูกครับ เราเรียกตัวเองว่าอาม่า เพราะฉะนั้นน้องก็เหมาะสมครับ

ขอถามเรื่องกาแฟก่อน ปกติพี่ฉุ่ยชอบดื่มกาแฟอะไรครับ
จริงๆ แล้วปกติผมไม่ใช่คอกาแฟ แต่สามารถดื่มได้ทั้งเอสเปรสโซ อเมริกาโน่ และแฟลตไวท์ ไม่ได้ระบุว่าตัวเองต้องชอบกาแฟชนิดไหนเป็นพิเศษ 

อย่างนั้นถ้าต้องเปรียบอาม่าเป็นกาแฟสักประเภท พี่ฉุ่ยคิดว่าอาม่าจะเหมือนกาแฟอะไรดีครับ
ผมว่าต้องพูดแบ่งเป็นสองช่วงนะครับ ในช่วงแรกที่อาม่าเปิดให้บริษัทตั้งแต่ ปี พ.ศ.2539 ด้วยการให้บริกาขนส่งสินค้าทางเรืออย่างเดียว คือเรือน้ำมัน ซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบผมมองว่าตอนนั้นเราเป็นเอสเปรสโซ่นะ เพราะเป็นธุรกิจที่เฉพาะกิจจริงๆ คนถึงจะมาทำเรือ แต่พอผ่านช่วงระยะเวลาหนึ่งมาความหลากหลายของธุรกิจอาม่าก็เริ่มมากขึ้น เรามีการให้บริการทางรถเพิ่มเข้ามาด้วยหลังเราเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ อาม่าเลยเหมือนกาแฟที่ผสมนมเข้ามาด้วย

มีกาแฟชนิดหนึ่งที่ผมดื่มชื่อว่า แฟลตไวท์ พิเศษไปอีกที่ต้องเลือกว่าด้วยจะผสมนมแบบไหน ซึ่งผมก็จะมีสูตรของผม คือ แฟลตไวท์ ,skim milk , no foam, extra hot อาจจะยาวนิดนึงนะ (หัวเราะ) แต่ไหนๆ โดนถามแล้วผมก็จะขออธิบายสักหน่อยว่าทำไมถึงต้องเป็นแบบนี้  อย่างแรกเลยคือ ทำไมต้อง Skim milk หรือ นมพร่องมันเนย คือถึงแม้เราจะขยายการบริการไปในธุรกิจอื่น แต่อย่างหนึ่งที่เราต้องดูคือเราอยู่ในการให้บริการขนส่ง นมพร่องมันเนยคือนมที่ตัดไขมันออก เหมือนเราที่ต้องลีนจริงๆ โลจิสติกส์ในปัจจุบันจะอยู่ได้เราต้องลีน ต้องประหยัดต้นทุน ต่อมาคือทำไมต้อง extra hot คือ ต้องระวังเวลาดื่ม เหมือนธุรกิจนี่ต้องระวังมากในการเข้ามาลงทุนในการให้บริการขนส่ง ไม่ว่าจะทางเรือหรือทางรถ ต้องทำธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพราะเรามีสินค้าของลูกค้าที่ต้องดูแล และอีกตัวคือ no foam ไม่ใส่โฟมนม คือเราไม่จำเป็นต้องเน้นความสวยงามหน้าตา เราจึงตัดเรื่องโฟมนมออกไปเพื่อเน้นให้เรื่องคุณภาพของการตรงต่อเวลา และสินค้าที่ต้องนำส่งให้ครบถ้วน 

ปัจจุบันนี้อาม่าอยู่ในตลาดมากี่ปี แล้วภายในระยะเวลาที่เข้าตลาดมาเคยมีมูลค่าธุรกิจสูงสุดอยู่เท่าไหร่ครับ 
ผ่านมา 3 ปีเต็มๆ แล้วครับ ช่วงสูงสุดเราเคยขึ้นไปถึง 9,900 ล้านบาท ตอนนั้นก็มีการลุ้นกับผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ MAI คือคุณประพันธ์ เจริญประวัติ ว่าจะขึ้นถึง 10,000 ล้านบาทไหม ตอนนั้น P/E Ratio ก็กระโดดไปถึงเกือบ 100 ซึ่งก็เป็นที่น่าตกใจ แม้กระทั่งตัวผมเองก็ตกใจที่ราคาหุ้นสามารถไปได้ถึงขนาดนั้น เพราะเคาะราคา IPO ที่ 9.99 บาทต่อหุ้น ขึ้นไปเกือบ 27 บาท ส่วนปัจจุบันมูลค่าธุรกิจในตลาดก็อยู่ประมาณ 2,530 ล้านบาท 

แล้วยอดขายหล่ะครับเป็นอย่างไรบ้าง 
คือยอดขายเราเติบโตมาเรื่อยๆ นะครับ อาจจะยังบอกตัวเลขตรงๆ ของปีที่แล้วทั้งหมดไม่ได้ แต่ในส่วนของปี 61 รายได้ของเราอยู่ที่ 1,700 กว่าล้านบาท แล้วเราก็มีแผนที่จะโตที่ 15 เปอร์เซ็น ถ้าคูณตรงไปตรงมาก็ประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่ในตอนนี้ยอดของปีที่แล้วยังไม่ได้ปิด แต่คงจะประกาศงบหลังจากประชุมในวันที่ 21 กุมภาพันธ์นี้ 

การนำบริษัทเข้าตลาดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างครับ
เปลี่ยนแปลงเยอะมาก เพราะบริษัทอาม่านั้นเดิมมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัวแบบเต็มตัว เพราะเริ่มจากพี่ชายที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกันมีความคิดอยากจะจัดตั้งบริษัท ในปี พ.ศ.2539 ส่วนผมกลับเข้ามาร่วมงานกับอาม่าในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งถ้านับผมก็อยู่กับอาม่ามาเป็นปีที่ 23 ก่อนจะเอาบริษัทเข้าตลาดก็มีการพูดคุยกันในส่วนของผู้ถือหุ้นหลัก ก็เห็นกันถึงเรื่องทั้งข้อดีและข้อเสียของการพาบริษัทเข้าตลาด และเมื่อตัดสินใจเข้ามาจริงๆ ก็ยังเห็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ถ้าให้ย้อนกลับไปเลือกว่าจะยังพาบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไหม ผมก็ตอบว่าเข้าครับ เพราะไม่ว่าจะทั้ง SET หรือ MAI ผมก็มองว่าข้อดีนั้นมันมีมากกว่าข้อเสีย 

อย่างนั้นข้อดีของการนำบริษัทเข้าตลาดมันมีอะไรบ้างครับ 
หนึ่งเลยคือ ภาพลักษณ์ เพราะอาม่าเราให้บริการขนส่งสินค้าให้กับบริษัทระดับโลก ลูกค้าหลักของเรา 3 รายเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทเหล่านี้ก็มองหาบริษัทให้บริการที่เชื่อถือได้ การนำบริษัทเข้าตลาดจึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของเรามากขึ้น  การต่อรอง การทำเงื่อนไขต่างๆ ก็ง่ายขึ้น 

สองคือในเรื่อง การระดมทุน ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะความเป็นธุรกิจครอบครัวที่ถึงแม้จะมีไอเดียทางธุรกิจอะไรดีๆ ว่าจะเติบโตต่อไปได้ยังไง ก็ไม่สามารถทำได้ทั้งหมดเพราะเรามีข้อจำกัดในเรื่องการลงทุน 

อีกอย่างที่เห็นชัดๆ เลย คือ การกำกับควบคุม ตอนเราเป็นธุรกิจครอบครัว ตอนพี่เป็นซีอีโอ พี่ตัดสินใจทุกอย่างด้วยตัวเองคนเดียว อะไรที่มองว่าอยู่ในอำนาจตัดสินใจของเราก็ตัดสินใจเองคนเดียวหรือไม่ก็ปรึกษาพี่ชาย แต่พอตอนนี้เรามีคณะกรรมการบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการอิสระด้วย แต่ละท่านก็มีความรู้ความสามารถหลากหลาย อะไรที่จะตัดสินใจปัจจุบันก็ต้องมีขั้นตอน ต้องมีการทำแผน ทำการศึกษาความเป็นไปได้ก่อนแล้วมาอธิบายให้คณะกรรมการฟังจนได้รับความเชื่อมั่น ก่อนที่ไปเริ่มโครงการที่จะซื้อเรือลำใหม่ ขนาดเท่าไหร่ จะวิ่งเส้นทางไหน หรือจะเพิ่มขนาดกองรถในปัจจุบัน ที่จากเดิมเรามี 5 คัน ปัจจุบันมี 181 คัน ซึ่งการทำแผนพวกนี้มาก่อนทำให้คณะกรรมการหรือผู้หลักผู้ใหญ่ ที่มีคามรู้ ความสามารถ สามารถช่วยเราได้ 

ต้องขอเรียนถามครับว่าจริงๆแล้ว อาม่า ทำธุรกิจอะไรบ้าง
มีธุรกิจให้บริการขนส่ง 2 รูปแบบ อย่างแรกคือ ขนส่งสินค้าที่เป็นของเหลวโดยใช้เรือบรรทุกน้ำมัน หรือเรือบรรทุกสารเคมี พื้นที่ให้บริการอยู่ในพื้นที่ภูมิภาคเอเชียเป็นหลัก ปัจจุบันเรามีเรืออยู่ 11 ลำ มีขนาดบรรทุกตั้งแต่ 3 ล้านลิตร ไปจนถึงสูงสุด 13 ล้านลิตร เราให้บริการส่งไปที่จีนเป็นหลัก คือรับจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย แล้วขนส่งไปที่จีน รองลงมาก็คืออาเซียน ที่เหลือก็จะเป็นอินเดีย และบังคลาเทศ ทั้งหมดนี้คือเขตพื้นที่ให้บริการในส่วนของเรือ ในส่วนบริษัทย่อยคือ ขนส่งโดยรถ ซึ่งเป็นรถบรรทุกน้ำมัน เปิดบริษัทมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป ประมาณ 88 เปอร์เซ็น ส่วนที่เหลือจะเป็นน้ำมัน ไบโอดีเซล บี100 และ เอทานอล ที่เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงหลักอีกที

หากเทียบภายในภูมิภาคบริษัทอาม่า มารีน น่าจะอยู่ที่อันดับเท่าไหร่ของภูมิภาคครับ 
ถ้าเป็นในเรื่องส่วนแบ่งการตลาด บริษัทอาม่า ที่เป็นบริษัทแม่ที่เป็นการทำในส่วนขนส่งโดยเรือ ในภูมิภาคนี้เราอยู่อันดับ 1 คือขนส่งเป็นจำนวน 27 เปอร์เซ็นของการขนส่งทั้งหมดในอาเซียน แต่หากเทียบอันดับในภูมิภาคเอเชียเราก็ถือว่ายังเป็นตัวเล็กๆ เพราะเมื่อเทียบในระดับภูมิภาคเอเชีย เรามีส่วนการขนส่งอยู่เพียง 6 เปอร์เซ็นจากทั้งหมด แต่ถ้าเป็นบริษัทที่ทำการขนส่งโดยรถ เราอยู่ในท็อป 15 บริษัทที่ขนส่งน้ำมันภายในประเทศ เรามีรถขนส่งทั้งหมด 181 คัน แต่ในปี พ.ศ. 2563 นี้เรามีแผนจะเพิ่มรถอีก 80 คัน ซึ่งรวมๆ แล้วในอนาคตเราจะมีจำนวนรถขนส่งอยู่ประมาณ 240 กว่าคัน ซึ่งเราก็แผนอยากจะเติบโตไปให้อยู่ในอันดับ 1 ใน 3 ของการให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ

เป้าหมายต่อไปของอาม่าเป็นอย่างไรครับ
คือเดิมเราอยากเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจร ปัจจุบันเรามีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่จริงๆ มันยังมีเรื่องของคลังสินค้า และอื่นๆ อีกหลายอย่างที่เราคิดอยากจะทำ ซึ่งมันจะเป็นสิ่งที่จะทำต่อไปแต่ในทรัพยากรที่จำกัดเราก็ยังต้องไปทำในเรื่องที่เราถนัดที่สุดก่อน 

ซีอีโอที่บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นอย่างไรและต้องทำอะไรบ้างครับพี่ฉุ่ย
สำหรับผมซีอีโอทั้งที่อยู่ในตลาดและไม่อยู่ในตลาดนั้น มีหน้าที่ไม่ได้แตกต่างกันนะ แต่แค่ว่าซีอีโอในตลาดต้องมีการให้ข้อมูลกับนักลงทุนเพิ่มเติม อันนี้เป็นจุดที่ต่างจากบริษัทจำกัด ส่วนตัวผมนั้นก่อนจะเข้าตลาดและหลังเข้าตลาดผมไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง คิดแค่เราจะบริหารบริษัทให้เติบโตและผลกำไรสูงสุดยังไง แต่ก่อนสมัยยังเป็นธุรกิจครอบครัวผมจะใช้การปกครองแบบพี่ปกครองน้อง มากกว่าจะเป็นเจ้านายกับลูกน้อง  ใครอยู่ที่กับผมมานานๆ ก็จะเรียกผมว่าเฮีย บางคนก็จะเรียกว่าพี่ จะไม่มีใครเรียน คุณพิศาล เจ้านาย เพราะเราไม่ชอบให้เรียกอย่างนั้น แต่พอมาหลังๆ คนมาใหม่ๆ ก็จะติดเรียกเราว่าคุณพิศาล สิ่งหล่านี้ครับที่เปลี่ยนไป แต่ทั้งหมดแล้วผมว่าน้องๆ ที่ทำงานทุกคน ทั้งส่วนออฟฟิศ ทั้งส่วนเรือ ขอแค่เขาทำงานอย่างมีความสุข ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะตามมา เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงอยู่ตลอดครับ 

ตอนนี้พี่ฉุ่ยดูแลพนักงานอยู่กี่คน กี่แผนก อย่างไรบ้างครับ 
ในส่วน Back office ทั้งบริษัทแม่และบริษัทย่อย ก็มีอยู่ประมาณ 130 – 140 คน มีพนักงานขับรถอยู่ 420 คน มีพนักงานเรืออยู่ประมาณสัก 250 คน รวมๆ แล้วก็ประมาณ 900 คน 

มีความท้าทายอะไรบ้างครับ ในการบริหารคนจำนวนเยอะๆ แบบนี้ 
ในส่วนแรกคือ Back Office ตรงนี้จะสามารถจัดการบริหารง่ายหน่อย เพราะเจอกันทุกวัน มีโอกาสที่จะสื่อสารกับเขาตลอดเวลา ผ่านการพูดคุยและการประชุมอยู่เป็นประจำ แต่ความท้าทายคือในส่วนของพนักงานเรือและพนักงานขับรถ ที่เราไม่ได้มีเวลาเจอบ่อยนัก แต่พี่ก็พยายามจะเจอทุกคน อย่างเรือพี่ก็จะพยายามไปลำละ 1 ครั้ง ต่อปี ซึ่งนับแล้วโอกาสเจอก็น้อย อาจจะเจอตอนสมัครงาน หรือบางครั้งอาจจะมีการขอพูดคุยก่อนจะกลับไปลงเรือ แต่ในส่วนพนักงานขับรถนั้นมีอัตราการเข้า – ออก ค่อนข้างสูง การได้พบปะค่อรนข้างน้อยจึงต้องใช้วิธีสื่อสารผ่านหัวหน้างาน ซึ่งเรื่องหลักของการสื่อสารกับพนักงานคือเรื่องความปลอดภัย 

“พนักงานของเราทั้งอยู่บนเรือทั้งขับรถ ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญเพราะทุกคนทำงานเพื่อหารายได้ไปจุนเจือครอบครัว เมื่อตัวพนักงานปลอดภัยครอบครัวของเขาก็จะปลอดภัย”

ขอขยายเพิ่มเติมหน่อยครับว่าบริษัทอาม่ามีสร้างความปลอดภัยอย่างไรบ้างครับ ทั้งทางเรือ และทางรถ 
Back Office ของเรามีส่วนสนับสนุนในเรื่องอุปกรณ์ที่ต้องให้มีความสมบูรณ์พร้อม คืออย่างเรือ เครื่องจักร เครื่องยนต์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนเรือ อุปรกรณ์ต่างๆบนเรือ ต้องมีความสมบูรณ์พร้อม 100 เปอร์เซ็น เราไม่สามารถจะบอกได้ว่าเมื่อไหร่จะมีคลื่นลม แม้จะสามารถดูได้จากทำนายได้จากการดูพยากรณ์อากาศก็จริง แต่หากเรือไม่สมบูรณ์พร้อม การที่จะนำเรือหลีกเลี่ยงคลื่นลมก็จะมีความเสียงต่อพนักงาน ดังนั้นเราจึงต้องสนับสนุนอย่างเต็มที่ให้เครื่องจักรและตัวเรือ มีสภาพพร้อม ในขณะเดียวกันในเรื่องของการทำงานบนเรือ การขนส่งสินค้า Back Office ก็จะมีหน้าที่สนับสนุนด้านข้อมูลตลอดเวลา เช่นเที่ยววิ่งถัดไปจะไปที่ไหน ต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้าง สินค้าที่ต้องขนส่งเป็นประเภทไหน ต้องดูแลอย่างไร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวพนักงานและสินค้าของลูกค้า เป็นต้นครับ 

ส่วนทางรถเราก็มี เครื่องมือ อุปกรณ์ ปกติทั่วไปของผู้ให้บริการขนส่ง ไม่ว่าจะการคอยติดตามด้วยระบบจีพีเอส การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ก่อนขับรถ หรือการมีอุปกรณ์คอยจับว่าพนักงานขับรถมีอาการง่วงหรือเปล่า เพื่อให้สามารถเข้าช่วยและติดต่อพนักงานได้ทันที และการจัดเวลาพักผ่อนให้พนักงานขับรถที่ต้องมีเวลาพักผ่อนที่เพียงพอ จากที่จะเห็นว่า เรามีรถ 181 คัน แต่มีพนักงานขับรถถึง 420 คน เพื่อหมุนเวียนให้พนักงานได้พนักผ่อนและคนทำงานก็สามารถออกไปทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยครับ 

ในการทำงานขนส่งแบบนี้ เราควรจะบริหารให้เรือและรถวิ่งตลอดเวลา ให้มีช่วงเวลาจอดที่น้อยที่สุด อันนี้จริงไหมครับ 
จริงครับ สมัยก่อนที่เราทำธุรกิจในส่วนเรืออย่างเดียว เราจะมีคำว่าปล่องไฟเรือต้องร้อนตลอดเวลา หมายถึงปล่องไฟที่เป็นเหมือนท่อไอเสียนั้นต้องร้อน เครื่องต้องติดตลอดเวลา เรือจะจอดโดยไม่ได้รับค่าจ้างไม่ได้ หมายความว่า เรือต้องมีโปรแกรมทำงานถนัดไปรออยู่เสมอ ซึ่งไตรมาสที่ 3 ในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาเรามีเวลาเดินเรือถึง 95 เปอร์เซ็น มีช่วงเวลาหยุดเรือเพียงแค่ 5 เปอร์เซ็น แต่จริงๆ ปีก่อนๆ หน้าเราทำได้ดีกว่านี้ 

ขอถามแบบคนไม่รู้เลยนะครับเรือไม่เหนื่อยใช่ไหมครับ 
คือเครื่องจักรของเรือต้องติดอยู่ตลอดเวลา มีเวลาในช่วงที่เข้าเทียบท่า จอดทำสินค้า ตรงนั้นครับจะเป็นช่วงเวลาที่เครื่องจักรจะได้พัก ในส่วนเครื่องจักรหากมีการดูแลรักษาดี เหมือนรถยนต์ รถแท็กซี่ ที่วิ่งอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงเวลาบำรุงรักษา เราก็ต้องบำรุงรักษาอย่างดีให้เต็มที่  ถึงเวลาใช้งานก็จะได้ใช้งานอย่างสบายใจ 

ปรัชญาในการทำงานของซีอีโอแบบพี่ฉุ่ยคืออะไรครับ 
อย่างที่บอกไปแล้วครับ ก็คือการปกครองน้องๆ แบบพี่ปกครองน้อง ส่วนอีกเรื่องที่สำคัญคือเราต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ และทำงานได้แบบเป็นทีม อีกอย่างหนึ่งที่เป็นหน้าที่หลักของซีอีโอคือ การเลือกคนไปคนทำงานในส่วนที่เขามีศักยภาพ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในส่วนการทำงานแบบบริษัทขนส่ง สิ่งที่ต้องมีเลยคือความซื่อสัตย์ ต้องส่งสินค้าไปถึงจุดหมายปลายทางของลูกค้าได้อย่างครบถ้วน ตรงนี้เป็นหลักการทำงานพื้นฐานคือเราต้องทุ่มเทและซื่อสัตย์ 

ขอทราบหน่อยครับว่าทุ่มเทกับการทำงานขนาดนี้ แบ่งแยกชีวิตส่วนตัวและการทำงานอย่างไรบ้างครับ
ก็พยายามจะบาลานซ์ตรงนั้นให้ได้นะครับ เรื่องที่อยู่ที่ออฟฟิศก็จบแค่ที่ออฟฟิศ หน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบเราก็ต้องทำให้เต็มที่ แต่พอกลับไปอยูที่บ้านจะไม่เอาเรื่องต่างๆ พวกนี้มาคิด ก็จะใช้เวลาดูแลครอบครัว ผมจะไม่เอามาปนกันเลย 

นอกจากการทำงาน การดูแลครอบครัว แอบรู้มาว่าพี่ฉุ่ยเล่นดนตรีแล้วก็มีวงดนตรีด้วย
อันนี้เป็นความชอบส่วนตัวมาตั้งแต่สมัยเรียน ผมชอบเล่นกีต้าร์ ตอนนี้ก็มีวงชื่อ เดอะ เคอเรนซี่ ก็ตั้งวงกับเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่เรียนหลักสูตรหนึ่งมาด้วยกัน หลายท่านก็เป็นซีอีโอในบริษัทจดทะเบียน หลายท่านก็เป็นที่รู้จัก เล่นด้วยกันมาสัก 2 ปีกว่าแล้วในวงก็มีทั้งมือคีบอร์ด มือกลอง มือเบส มือกีต้าร์ มือแซ็ค และนักร้อง ซึ่งต่างคนก็ทำหน้าที่กันคนละแบบแต่ต้องเล่นรวมกันให้ออกมาเป็นเพลง ซึ่งตรงนี้ก็เหมือนกับบริษัทถ้าหากเราสามารถเอาสกิลของน้องๆ และผู้บริหารในบริษัท ที่มีความสามารถแตกต่างกันในหลายๆ ด้าน จับมาผสมกลมกลืนให้ได้มันก็จะได้ผลงานที่ดีออกมา 

บริษัทอาม่าเองเคยเป็นเอสเอ็มอี จนโตมาขนาดพันล้านแบบนี้ได้ ผมก็เลยมาขอคำยืนยันให้สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี นักธุรกิจรุ่นใหม่ หน่อยครับว่าเราสามารถมีโอกาสเติบโตแบบอาม่าได้
ส่วนตัวผมมองว่าธุรกิจที่เราทำต้องอยู่ในเทรนด์ก่อน หมายถึงเราต้องเลือกธุรกิจที่มองแล้วว่าจะสามารถเติบโตต่อไปได้ เป็นอันดับแรกครับนั่นคือการเลือกธุรกิจให้ถูก เมื่อเลือกถูกแล้วเราก็ต้องมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจทำให้ธุรกิจมีการเติบโต อย่างเราใช้เวลากว่า 15 ปีในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า จนปัจจุบันอาม่าสามารถมีลูกค้าอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลกมาเป็นลูกค้า มาอยู่ใน Portfolio ของเรา ผมเชื่อว่าทุกอย่างเป็นไปได้ถ้าเราตั้งใจ อย่างธุรกิจของผมก็อย่างที่บอกไม่มีอะไรมากไปกว่า การให้บริการอย่างซื่อสัตย์ ถูกต้อง ตรงต่อเวลาและครบถ้วน แค่นั้นเอง ก็เป็นกำลังใจให้ครับ อย่างอาม่าก็เคยเป็นบริษัทที่ทุนจดทะเบียนเพียง 1 ล้านบาทก็สามารถเติบโตมาได้จนวันนี้ ทุนจนทะเบียนของเราอยู่ที่ 250 ล้านบาท และส่วนตัวผมเชื่อว่านักธุรกิจไทยเก่งไม่แพ้ใคร แน่นอนว่ายังมีอีกหลายๆ เอสเอ็มอีที่กำลังรอเวลาเรียงคิวเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะ MAI หรือ SET เป็นกำลังใจให้ครับ 

ผมเชื่อว่าแนวคิดดี ๆ ในวันนี้ อาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลาย ๆ คน กล้าที่จะลุกขึ้นมาทำธุรกิจของตัวเองให้มาถึงจุด ๆ นี้ได้ เพราะนี่คือเคล็ดลับที่จะทำให้พวกเขาไปได้ไกลกว่าเดิมครับ

รายการอายุน้อยร้อยล้าน แคมเปญพิเศษ Coffee with CEO ดูสดพร้อมกันได้ที่
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน 
และช่อง Workpoint 23
ทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 09.00 น.
ติดตามบทความ CEO Interview ได้ที่
Website : www.ryounoi100lan.com
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน
ทุกเช้าวันจันทร์ เวลา 06.00 น.