กว่าจะได้กาแฟสักถ้วย ที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการคัดสรร และคั่วบด อย่างลงตัวกับความร้อนที่เหมาะสมชงอย่างพิถีพิถัน จนได้กาแฟที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จและการพาบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับการได้สัมผัสกาแฟชั้นดีสักถ้วยประเทศไทย มี SMEs เกิดขึ้นมากมายมีบริษัทจดทะเบียน นับหมื่น นับแสนแต่มีเพียงไม่กี่ร้อยบริษัท ที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติกาแฟ ของเหล่า CEO ผู้สร้างธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ในตลาด
CEO ที่เราได้มาจิบกาแฟด้วยวันนี้ก็คือ คุณอิสสระ ถวิลเติมทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KBS หรือ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทที่ผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายครบวงจร ภายใต้ตราสินค้า KBS ที่มีประสบการณ์มากว่า 54 ปี และได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งใน และต่างประเทศ สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และมีมูลค่าสูงสุดกว่า 7,000 ล้านบาท
เป็นซีอีโอคงต้องพบปะผู้คนแล้วดื่มกาแฟกันบ่อยๆ อยากทราบว่าปกติคุณอิสสระจะเลือกดื่มกาแฟอะไรครับ
ผมดื่มคาปูชิโน เพราะจากการอ่านมานะครับ เขาบอกว่าถ้าดื่มเอสเปรสโซ่ จะฮิตค่อนข้างเร็วแต่ก็จะหายไปเร็วเหมือนกัน ดังนั้นผมเลยเลือกที่มีนมหน่อยแต่ไม่มากถึงขนาดลาเต้ แล้วก็คาปูชิโนก็ดูจะเข้ากับผมได้พอดี
แล้วถ้าเปรียบ KBS เป็นกาแฟสักชนิดหล่ะครับ คุณอิสสระคิดว่าเป็นชนิดไหนดี
KBS เป็นธุรกิจที่ซับซ้อนมีการให้สินเชื่อชาวไร่ ส่งเสริมชาวไร่ แล้วก็นำผลผลิตเข้ามาในโรงงานมีวิธีการผลิตการใช้เครื่องจักรที่ค่อนข้างใหญ่ แล้วก็ต้องส่งขาย ผมจึงคิดว่ากาแฟแก้วนี้ต้องกลมกล่อม มีนม มีกาแฟที่พอดี
ก่อนอื่นขอทราบความเก่าแก่ของบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS สักหน่อยครับว่าก่อตั้งมากี่ปีแล้วครับ แล้วเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตอนปีไหนครับ
บริษัทก่อตั้งมา ปีนี้ก็เข้าปีที่ 54 แล้วครับ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตอนปี 2553 มาถึงปีนี้ก็ 10 ปีแล้วครับ
ความแตกต่างระหว่างก่อนเข้าตลาดและหลักเข้าตลาดแตกต่างกันยังไงบ้างครับ
การอยู่ในตลาดก็ต้องมีการควบคุมในทางธรรมาภิบาลเยอะขึ้น มีกฏเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น มีการดูบัญชีที่ต้องเป๊ะๆ มากขึ้น ต้องปิดงบให้ทันเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องหลักเลยเมื่อเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจริงๆ มันเป็นผลดีต่อบริษัทเราด้วย
มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูงสุดของ KBS เคยได้อยู่ที่เท่าไหร่ครับ
มูลค่าตลาดช่วงที่ดีที่สุดอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท
ขอเรียนรู้หน่อยครับว่าธุรกิจที่ซับซ้อนแต่เต็มไปด้วยความหวานหน่อยนะครับว่าจริงๆ แล้ว KBS ทำธุรกิจอะไรบ้างครับ
เป็นธุรกิจน้ำตาลนี่แหละครับ เราเน้นเรื่องน้ำตาลมาตลอด ตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้วที่คุณปู่ได้ก่อตั้งขึ้นมา ช่วงแรกที่ก่อตั้งก็ยากลำบากมาก เพราะคุณปู่เองก็ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้เลย เนื่องจากได้ธุรกิจนี้มาด้วยความบังเอิญ จากการที่มีคนมากู้เงิน แล้วไม่สามารถจะคืนได้จึงขอชดใช้เป็นโรงงานน้ำตาลนี้แหละ แต่จะว่าโชคดีไหมก็พูดยาก เพราะคุณปู่เล่าให้ฟังว่าช่วงแรกที่ได้โรงงานมาคุณปู่ก็จะถอดใจไปหลายครั้งเพราะต้องไปกู้ยืมเงินมาช่วยด้วย จนสุดท้ายก็ทำมาตลอดพัฒนาจนกลายเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย ณ ขณะนั้น แต่ไม่ใช่อันดับในเรื่องยอดขายนะครับ แต่เป็นอันดับในเรื่องคุณภาพ ผู้คนยอมรับว่าถ้าเป็นน้ำตาลของที่นี่นับว่าเป็นของคุณภาพดี แล้วเราก็ยึดหลักตรงนี้ พยายามเพิ่มคุณภาพของน้ำตาลมาตลอดเลย หากมีความต้องการมาตรฐานอะไรในตลาดเราก็พยายามไปศึกษาและนำมาพัฒนาทำให้ได้
แล้วตอนนี้สินค้าที่ KBS ทำมีอะไรบ้างครับ
มีน้ำตาลทรายบริสุทธิ์ น้ำตาลทรายขาวธรรมดา น้ำตาลธรรมชาติ ในส่วนส่งออกก็จะมีน้ำตาลทรายดิบ แต่ที่เราไม่เหมือนโรงงานอื่นๆ ทั่วไปคือเรื่องความยืดหยุ่นในเรื่องของบรรจุภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นแบบครึ่งกิโลกรัม หรือขนาดต่างๆ ซึ่งฟังดูมันเหมือนจะธรรมดา แต่ในความจริงแล้วมีโรงงานไม่มากนักที่จะทำเรื่องนี้
กำลังการผลิตของ KBS เป็นอย่างไรบ้างครับ การผลิตน้ำตาลนี่ต้องผลิตกันเยอะขนาดไหน
โรงงานน้ำตาลเราจะวัดปริมาณกันที่ ‘การหีบอ้อย’ เรามีอัตราการผลิตอยู่ที่ 35,000 ตัน ต่อวัน ซึ่งจัดเป็นอันดับโรงงานที่ผลิตน้ำตาลได้ในอันดับบนของไทย แล้วในปลายปีนี้เราก็จะเพิ่มโรงงานการผลิตอีก 1 โรงงานในอีกที่หนึ่งซึ่งปริมาณที่ KBS ผลิตได้ในปีหน้าก็จะเพิ่มเป็น 47,000 ตันต่อวัน
เห็นส่วนใหญ่เจ้าของโรงงานน้ำตาลมักจะมีธุรกิจโรงงานไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย เป็นเพราะอะไรครับ
หลังจากที่เราหีบอ้อยแล้วมันจะมีกากอ้อยเป็นขยะที่ต้องทิ้งเยอะมาก แล้วมันยังเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น มันจึงเป็นที่มาว่าต้องหาวิธีปรับเปลี่ยนและกำจัดที่ไม่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นการนำกากอ้อยที่เสร็จจากการหีบอ้อยไปเผาแล้วนำไปปั่นไฟมาใช้ในโรงงานเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไอน้ำ และไฟฟ้าเพื่อใช้ในการกระบวนการผลิตต่ออีก หลังๆ มาก็สามารถขายไฟฟ้าได้ ตรงนี้ก็ถือว่าเป็นรายได้เสริมที่มาช่วยในธุรกิจโรงงานน้ำตาลได้อย่างดีเลย
แล้วในปีนี้ KBS เป้าหมายที่อยากจะเดินไปให้ถึงนั้นมีอะไรบ้างครับ
จริงๆ ปีที่ผ่านมานี้ถือว่าเป็นวิกฤตของน้ำตาลทั่วโลก จากภาวะภัยแล้งซึ่งในเมืองไทยเรานั้นถือว่าหนักมากที่สุดประเทศหนึ่ง จากที่ปีก่อนหน้านั้นการหีบอ้อยทั่วประเทศไทยมีถึง 132 ล้านตัน ปีที่แล้วลดลงมาไม่ถึง 75 ล้านตัน วัตถุดิบหายไป ประมาณ 44 เปอร์เซ็น ดังนั้นสิ่งนี้จึงเป็นเป้าหมายที่ KBS อยากแก้ปัญหาได้ไวที่สุด โดยที่ว่าเราจะต้องไปลงทุนในไร่ให้มากขึ้น เช่นการขุดสระ ขุดบ่อน้ำ เพื่อรองรับน้ำฝนได้มากขึ้น
ในการดูแลอ้อยนั้น หากเราดูแลกันดีๆ อย่างเมืองนอกนั้น สามารถอยู่ได้ 5 – 6 ปี เพราะอ้อยนั้นเมื่อโดนตัดไปแล้วจะสามารถงอกใหม่เติบโต แล้วตัดซ้ำได้อีกเรื่อยๆ แต่เนื่องจากการดูแลไม่ดีในการตัด ทำให้อ้อยนั้นเสียหายไม่ขึ้นใหม่ จึงจำเป็นต้องไถทิ้งแล้วปลูกใหม่ อันที่จริงแล้วถ้าดูแลดีๆ ให้อยู่ได้นานต้นทุนของชาวไร่ก็จะน้อยลง ไม่ต้องปลูกใหม่บ่อยๆ กำไรก็มากขึ้น ต้องทำตรงนี้ที่ถึงแม้เราจะไม่ใช่เจ้าของไร่อ้อย แต่ต้องทำให้ชาวไร่นั้นมีความมั่งคั่งยั่งยืนเพื่อให้เราสามารถได้ผลผลิตจากชาวไร่ได้อย่างยั่งยืนเช่นกันครับ
ในสถานการณ์ที่เรียกว่าแย่ทั้งชาวไร่ แย่ทั้งโรงงานแบบนี้ ผมขอทราบวิธีในการบริหารหน่อยครับว่าซีอีโอต้องทำอะไรบ้างเพื่อให้มันผ่านไปได้
ในมุมมองของผมซีอีโอต้องเป็นคอนดักเตอร์ ให้หน่วยงานแต่ละฝ่ายต้องทำงานได้ดีและตรงเวลา แล้วการบริหารคนนั้นสำคัญมาก โดยผมยึดหลักการ “Put the right man on the right job” แล้วนอกจากนั้นเราก็ต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจเขาแล้วก็ต้องพัฒนาให้เขาเก่งยิ่งขึ้นในเนื้องานของเขา ในบางครั้งเราเชื่อใจเขาแต่งานไม่ได้ ไม่ออกมา ก็จะทำให้เรากลายเป็นไม่เชื่อใจเขาหรืองานเขาออกมาดี แต่เราไม่เชื่อใจเขา เขาก็ทำงานได้ยากเหมือนกัน ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวเขาและพัฒนาฝีมืองานเขาไปด้วยนั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้บริษัท ซึ่งเมือเขาพัฒนาขึ้นเขาก็มั่นใจในการทำงานมากขื้น เราก็เชื่อใจเขามากขึ้นด้วย ซึ่งเป็นแบบนี้ได้บริษัทจะเดินเร็ว แก้ปัญหาได้เร็ว ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากขึ้น
น่าสนใจเลยครับในเรื่องความเชื่อใจกับการพัฒนาบริษัท ขอเคล็ดลับการสร้างความเชื่อใจต่อพนักงานและต่อเจ้านายหน่อยครับว่า เราจะยกระดับความเชื่อใจในการทำงานที่มีต่อกันได้ยังไงบ้าง
ตอนนี้ที่เราทำก็คือการมี KPI ที่ชัดเจนให้กับพนักงาน ความคาดหวังของบริษัทที่มีต่อเขาคืออะไรแบบชัดเจน เพราะบางครั้งเขาก็อาจจะบอกว่าเขาทำงานอย่างดีแล้วแต่มันดันไม่ตรงกับความต้องการของบริษัท ตรงนี้ต้องทำให้เขาตระหนักกับวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ชัดเจนและเข้าใจบริษัท ว่าเป็นแบบนี้ แล้วเขาจะมีส่วนร่วมในการเดินไปของบริษัทอะไรบ้าง ตรงไหนบ้าง เพื่อให้รู้ว่าเขาเดินไปถูกต้องหรือไหม เมื่อเขามั่นใจว่าไปถูกทางก็ทำให้เขามั่นใจขึ้น เมื่อเขาเดินทางในทางที่ผิดจากเป้าหมายของบริษัทเราก็ต้องบอกแล้วคุยกันปรับการเดินของเขาเพื่อไม่ให้เขาและเราเสียเวลา
แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ อยู่ในวงการมานานก็ยังต้องเจอวิกฤตจากภัยธรรมชาติได้ แล้วก็ต้องผ่านมันไปให้ได้ ซึ่งตอนนี้ผมว่าเอสเอ็มอีมากมายก็อยากจะโตมาให้ได้ คุณอิสสระมองว่าการเติบโตของเอสเอ็มอี สู่บริษัทร้อยล้าน พันล้าน ทำได้ไหมครับ
เรื่องการเติบโตของเอสเอ็มอีนั้นเกิดขึ้นได้แน่นอนเพราะบริษัท KBS นี้ ทุนจดทะเบียนเมื่อก่อนนั้นก็อยู่ที่ 1 ล้านบาทเท่านั้น แต่ตอนนนี้เราก็ขึ้นมาเป็น 600 ล้านบาทได้ ซึ่งต้องยอมรับว่าใช้เวลานานพอสมควร ผ่านมรสุมมาเยอะมากไม่ว่าจะภัยแล้ง วิกฤตการต้มยำกุ้ง หรืออะไรต่างๆ ก็แล้วแต่ ซึ่งโลกมันเปลี่ยนไปเร็วมาก หากเอสเอ็มอีรับมือแลจัดการปัญหาของการเปลี่ยนแปลงและปัญหาที่เข้ามาได้ โอกาสเติบโตเยอะมาก ซึ่งผมว่าเป็นไปได้สูงเลยด้วยซ้ำไปหากจัดการปัญหาได้
สิ่งที่จำเป็นในการรับมือกับปัญหานั่นคือการติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราและต้องไม่ดูอย่างเพิกเฉย ต้องดูแล้ววิเคราะห์ และเตรียมทุกอย่างไว้รับมือ ไม่ว่าจะกลยุทธ วิธีการทำงานต่างๆ ของบริษัท ถ้าทำได้จะเติบโตได้อย่างดีมากๆ แน่นอนครับ
“ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติสักกี่ครั้ง ขอเพียงตั้งสติ และโฟกัสปัญหาให้ตรงจุด เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้” และนี่คือแนวคิดที่ทำให้คุณอิสสระ สามารถบริหารองค์กรให้เติบโต และพาบริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิต และจำหน่ายน้ำตาลทรายแบบครบวงจร เราหวังว่าการมาจิบกาแฟกับสุดยอด CEO ในวันนี้ จะทำให้ทุกท่านนำแนวคิดดี ๆ และกลยุทธ์ในการบริหารธุรกิจ ไปปรับใช้กับองค์กรของตัวเอง ให้เติบโต และก้าวไปสู่ความสำเร็จ และครั้งต่อไปเราจะพาไปจิบกาแฟเปิดจินตนาการกับ CEO ท่านใด ห้ามพลาดนะครับ กับ Coffee with CEO
รายการอายุน้อยร้อยล้าน แคมเปญพิเศษ Coffee with CEO ดูสดพร้อมกันได้ที่
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน
และช่อง Workpoint 23
ทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 09.00 น.
ติดตามบทความ CEO Interview ได้ที่
Website : www.ryounoi100lan.com
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน
ทุกเช้าวันจันทร์ เวลา 06.00 น.