CEO WHA Group เติบโตเพราะความเชื่อมั่น ก้าวเร็วเพราะเรียนรู้ตลอดเวลา

3090

กว่าจะได้กาแฟสักถ้วย ที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการคัดสรร และคั่วบด อย่างลงตัวกับความร้อนที่เหมาะสมชงอย่างพิถีพิถัน จนได้กาแฟที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จและการพาบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับการได้สัมผัสกาแฟชั้นดีสักถ้วยประเทศไทย มี SMEs เกิดขึ้นมากมายมีบริษัทจดทะเบียน นับหมื่น นับแสนแต่มีเพียงไม่กี่ร้อยบริษัท ที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติกาแฟ ของเหล่า CEO ผู้สร้างธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ในตลาด

วันนี้ CEO ที่เราได้มาจิบกาแฟด้วยก็คือ คุณจูน จรีพร จารุกรสกุล หญิงแกร่งผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำด้านโลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม ระบบสาธารณูปโภคและพลังงาน และบริการด้านดิจิทัลที่ครบวงจร ทั้งในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับปรัชญา และแนวคิดที่สามารถพาธุรกิจเติบโตมากว่า 17 ปี มีมูลค่าธุรกิจกว่า 160,000 ล้านบาท

ก่อนอื่นเลย ขอทราบก่อนว่าคุณจูนปกติชอบดื่มกาแฟอะไรครับ 
จริงๆ เป็นคนชอบดื่มคาปูชิโน่ เพราะมีรสชาติที่ Strong ในขณะเดียวกันก็มีความหอม แล้วก็มีความนุ่มของนม ซึ่งถ้าเปรียบเป็นธุรกิจแล้วก็เหมือนกันเลยคือ ทำธุรกิจต้องมีความ Strong เหมือนกาแฟ คุณจะหน่อมแน้มไม่ได้ ในขณะเดียวกันต้องหอมหวนของธุรกิจ คือหมายถึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ธุรกิจมีอนาคต ถึงจะหอม และธุรกิจก็จะทำแค่ตัวเองหรือบริษัทอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคิดถึงด้านสังคม นมก็หมายถึงการคืนสู่สังคม เพราะคนก็โตจากการดื่มนม ธุรกิจที่พี่ทำต้องมีการช่วยเหลือสังคม เช่น เราทำนิคมอุตสาหกรรม พนักงานในนิคมอุตสาหกรรมเรามีอยู่หลายแสนคน และครอบครัวที่อยู่รอบๆ  นิคมอุตสาหกรรมก็มีอีกหลายแสนครอบครัวเราทำให้เกิดการสร้างงานได้ มูลค่าที่ต่างชาตินำเงินมาลงทุนในนิคมอุตสากรรมของพี่อยู่ที่ 1 ล้านล้านบาทเลยนะคะ ซึ่งก็หมายความว่า WHA Group สามารถดึงเงินต่างชาติมาลงทุนในประเทศได้เยอะมาก ซึ่งอย่างที่บอกก็คือเกิดการสร้างงานและจ้างงาน นอกจากนี้ธุรกิจที่เราทำอย่างนอกจากนิคมอุตสาหกรรม โลจิสติกส์แล้วก็ มีด้านพลังงานซึ่งเราใช้พลังงานขยะ จากการนำขยะอุตสาหกรรมมาทำให้เป็นพลังงาน สิ่งนี้ก็คือการกำจัดขยะ แล้วเราก็ทำในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ จะเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อม และอย่างสุดท้ายเลยคือตัว ฟองนม เปรียบเสมือน ความมันในการทำงาน จะทำแล้วเบื่อไม่ได้ ดังนั้นพี่ถึงชอบดื่มคาปูชิโน่

ธุรกิจเยอะขนาดนี้ WHA เปิดมานานเท่าไหร่แล้วครับ และนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพท์มากีปีครับ
สำหรับ WHA Group ปีนี้ทำกิจการมาแป็นปีที่ 17 แล้วค่ะ ส่วนการเข้าตลาดปีนี้เป็นปีที่ 7 ค่ะ 

ตั้งแต่เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ WHA เคยมีมูลค่าสูงสุดเท่าไหร่ครับ 
ทั้งกลุ่มบริษัทของเราเลยนะคะ เคยมีมูลค่าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 170,000,000,000 ล้านบาทค่ะ 

แล้วมูลค่าปัจจุบันของ WHA Group อยู่ที่เท่าไหร่ครับ 
ตอนนี้น่าจะประมาณ 150,000,000 -160,000,000 ล้านแล้วค่ะ 

ตอนนี้ธุรกิจของ WHA มีอะไรบ้างครับ 
ตอนนี้เรามีอยู่ 4 กลุ่มธุรกิจค่ะ อย่างแรกเลยคือ โลจิสติกส์ อย่างที่สองคือ นิคมอุตสากรรรม อย่างที่สามคือ ด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน อย่างที่สี่คือ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม รวมแล้วมีบริษัทลูกอยู่ประมาณ 60 บริษัท
ในส่วนของโลจิสติกส์ คือเรามีการสร้างศูนย์กระจายสินค้า โรงงานให้เช่า มาตรฐานระดับโลก ซึ่งเราใช้คอนเซ็ปต์ Built-to-suit คือการสร้างตามความต้องการของลูกค้า เป็นตัวเข้าไปในตลาดแล้วทำให้ WHA เกิด เมื่อ 17 ปีที่แล้ว

แล้วปกติเมื่อก่อนเขาไม่สร้างตามความต้องการของลูกค้ากันหรือครับ
แต่ก่อนการสร้างโกดังทำตามความต้องการของเจ้าของ คือเจ้าของมีที่แถบชานเมือง ไม่รู้จะทำอะไรก็สร้างโกดังขึ้นมาให้เช่า แต่ไม่ตรงกับความต้องการด้านระบบการจัดการของผู้เช่า แล้วพอเวลาผ่านไปเทรนด์มันเปลี่ยน โลจิสติกส์เปลี่ยน การออกแบบด้านการจัดการกลายเป็นเรื่องสำคัญมากๆ เพราะมันมีผลต่อประสิทธิภาพในการจัดการและส่งสินค้า ซึ่งเราเล็งเห็นถึงช่องว่างตรงนี้ จึงเป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ Built-to-suit คือต้องออกแบบในส่วนของการจัดการคลังสินค้าก่อนเพื่อให้ลูกค้าสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุด แล้วจึงค่อยสร้างโกดังขึ้นมา เราทำงานแบบ Insight out ไม่ใช่ Outsight in เราเป็นรายแรกที่ทำแนวทางนี้และเป็นรายแรกที่เรียกว่า Built-to-suit ซึ่งตอนแรกที่เราเข้ามาในตลาดทุกคนงงมากว่าคืออะไร แต่ปัจจุบันนี้ใครๆ ใช้คอนเซ็ปต์ Built-to-suit

ในส่วนนิคมอุตสาหกรรมหล่ะครับ เป็นมาอย่างไรถึงทำธุรกิจนี้
เกิดจากที่เราไปเทคโอเวอร์บริษัทใหญ่ ก็คือนิคมอุตสาหกรรมเหมราช เมื่อประมาณสัก 4-5 ปีที่แล้ว ก็กลายเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย แล้วเราก็เอาตรงนี้มาขยายธุรกิจได้อีกมากมาย ตอนนี้เรามีนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 11 แห่ง อยู่ในเมืองไทย 10 แห่ง อีก 1 แห่งอยู่ที่ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และในปีนี้จะเปิดตัวอีก 1 แห่งคือที่ประเทศเวียดนาม

มาถึงธุรกิจด้านพลังงานครับ จากโลจิสติกส์ สู่ นิคมอุตสาหกรรม แล้วก็สาธารณูปโภคและพลังงาน เป็นมาอย่างไรครับ 
บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด สาธารณูปโภคคือเรื่องน้ำ เราทำตั้งแต่ขายน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมและการบำบัดน้ำเสีย และเรากำลังมองว่าอยากเอาน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำในอุตสาหกรรม เพราะปัจจุบันมีปัญหาภัยแล้ง และน้ำจะเป็นปัญหาระยะยาว เรามองว่าเราจะทำอะไรกับน้ำได้บ้างนอกจากใช้แล้วทิ้งไป 

อีกส่วนคือด้านพลังงาน เรามีโรงไฟฟ้า มีตั้งแต่โรงขนาดใหญ่ คือ IPP และขนาดที่เล็กลงมาหน่อย คือ SPP แล้วเราก็นำขยะอุตสาหกรรมมาทำเป็นพลังงาน ทำได้ปีละกว่า 100,000 ตัน แล้วก็มีในส่วนของ โซล่า รับติดตัดแผงโซล่าเซลล์บนโรงงานของลูกค้าเรา ขายไฟให้ลูกค้าเราในราคาพิเศษ แล้วเรากำลังจะทำในส่วนของ ไมโคร กริด (Micro grid) ระบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็ก เรามองว่าอยากจะให้ลูกค้าเราไม่ใช่แค่ใช้พลังงานอย่างเดียว แต่สามารถขายพลังงานได้ด้วย จาก Consumer เป็น Prosumer สร้างให้เกิดเป็นตลาดพลังงานในนิคมอุตสากหรรมของเรา ซึ่งตัวนี้เราได้เซ็นสัญญา MOU กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคไปแล้ว 

ธุรกิจที่ 4 ครับ ดิจิทัลแพลตฟอร์ม เป็นอย่างไรครับ
บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินโฟนิท จำกัด ตัวนี้เป็นน้องใหม่ล่าสุด ตอนนี้ทำ 2 เรื่องหลังๆ  คือเป็นส่วนของ Infrastructure เป็น Data Center ตอนนี้มีทั้งหมด 4 Data Center อีกส่วนคือ FTTx Service บริการอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่าย Fiber Optic ให้บริการในนิคมอุตสาหกรรมของเรา 

จากธุรกิจโลจิสติกส์ ต่อด้วยนิคมอุตสาหกรรม มาจนถึงธุรกิจพลังงานนี่พอเข้าใจนะครับ แต่ดิจิทัลแพลตฟอร์มมันมายังไงครับ 
มันเริ่มจากตอนที่เราเทคโอเวอร์นิคมอุตสาหกรรมเขมราช แล้วเรามองภาพว่าอนาคตมันคือโลกของดิจิทัล โลกมันต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะพี่อ่านหนังสือเรื่องพวกนี้เยอะมาก รวมถึงไปดูงานด้วย แล้วก็ทำให้กลับมามองภาพว่า 3 ธุรกิจของเรานี้คือ Infrastructure ของการพัฒนาประเทศ นิคมอุตสาหกรรมคือส่วนผลิต โลจิสติกส์ แล้วก็พลังงาน ซึ่งเราก็มองว่าจะหยุดอยู่แค่ 3 ธุรกิจนี้คงไม่ใช่ เราก็คิดถึงเรื่องดิจิทัลขึ้นมา เพื่อจะมาช่วยขับเคลื่อนอีก 3 ธุรกิจของลูกค้าเราต่อไป 

ทราบมาว่าพี่จูนเริ่มธุรกิจแรกคือโลจิสติกส์ตอนอายุ 36 แล้วใช้เวลาเพียง 17 ปี ทำไมถึงมาไกลได้ขนาดนี้ครับ 
อยากแรกเลยเราเลือกเมล็ดกาแฟที่ถูกต้อง คือเลือกธุรกิจได้ถูกต้อง คือศึกษามาว่า ต้นทุนในการทำโลจิสติกส์ของประเทศไทยเราขณะนั้นสูงมาก 18 เปอร์เซนของ GDP ทำให้สงสัยจึงมองเข้าไปอีกว่า ในส่วนของการทำโลจิสติกส์มันมีอะไรน่าสนใจอีกบ้าง แล้วเราก็คิดว่าตอนที่เราจะเริ่มธุรกิจตอนนั้นไม่น่าจะสามารถเป็นบริษัทใหญ่ระดับโลกได้ แต่เราเป็นพาร์ทเนอร์กับบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกพวกนี้ได้ เพราะเค้าต้องการพาร์ทเนอร์ด้านโลจิสติกส์ ส่วนใหญ่มักจะไม่ลงทุนเอง หลังจากนั้นเราก็มาดูภาพย่อยๆ ของโลจิสติกส์อีกพบว่าที่สำคัญที่สุดคือคลังสินค้า หรือ ศูนย์กระจายสินค้า ที่จะสามารถแมชท์กับการจัดการของเขา ซึ่งตรงนี้ลงทุนเยอะมาก เป็นส่วนที่ลงทุนหนักที่สุดของโลจิสติกส์ เราเลือกที่จะไม่ทำในส่วนของการจัดส่ง เพราะมีทั้งเรื่องคน เรื่องรถ พี่ไม่ชอบอยู่กับคนเยอะๆ อะไรที่ทำแล้วพนักงานเยอะๆ พี่จะไม่เอา องค์กรพี่นั้นจะลีนมาก นอกจากนี้เรื่องรถ มูลค่ามันลดลงเสมอ แต่ส่วนตัวพี่ชอบทำอะไรที่มูลค่าเพิ่มขึ้น พี่จึงเลือกทำคลังสินค้าขึ้นมาในวันนั้น 

ใช้เวลากี่ปีถึงเดือนทางเข้าสู่ตลาดหุ้นครับ
เราตั้งบริษัทประมาณปี ค.ศ.2003 ใช้เวลา 2 ปีในการคุยกับลูกค้ารายแรก จนสร้างอาคารเสร็จ ในปี ค.ศ.2005 ดำเนินกิจการมาจนถึงปี ค.ศ.2012 ก็นำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก็น่าจะใช้เวล่ประมาณ 8-9 ปีค่ะ 

การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีผลดีอย่างไรบ้างแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงภายในบริษัทไปเยอะไหมครับ
เปลี่ยนแปลงเยอะมากค่ะ เพราะในตอนแรกพี่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องกรเข้าตลาดหลักทรัพย์นะคะ แต่คือธุรกิจด้านโลจิสติกส์ อย่างคลังสินค้าเนี้ยลงทุนสูงมาก แต่รายได้กลับมาเป็นแบบค่าเช่า กว่าจะคืนทุนใช้เวลานานหลายปี ซึ่งคุณต้องคิดด้วยว่าถ้าแต่ละโปรเจกต์ต้องใช้เงิน 1,000 ล้านบาท คุณลงเงิน 300 ล้านบาท อีก 700 ล้านบาทต้องกู้ธนาคาร แล้วคุณจะมีจะมีเงินลงทุนได้อีกสักกี่โปรเจกต์กัน ตอนแรกนั้น ในช่วงปี ค.ศ. 2010 มีคนชวนพี่ทำ Property Fund เราขายอสังหาริมทรัพย์ของเราเข้ากองทุน เราก็ได้กำไรเอาเงินไปลงทุนต่อ อีกส่วนหนึ่งก็ปันผล ซึ่งพอมีตรงนี้ความจริงเราก็ไม่มีปัญหาเรื่องเงินแล้ว แต่เรามองภาพว่าถ้าเรายังเหมือนเดิมอยู่นอกตลาด เราก็เป็นเหมือนธุรกิจครอบครัวแต่เราต้องการมืออาชีพเข้ามาทำงาน ด้วยเพราะเราเชื่อว่าธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่นี้มีอนาคตข้างหน้าอีกมากมาย เราเชื่อว่าธุรกิจเรามาถูก จึงต้องการขยายทีมงาน ขยายอะไรอีกหหลายๆ อย่าง แล้วเรามองภาพว่าหากเข้าตลาดหลักทรัพย์เราจะมีเครื่องมือในการลงทุนมากขึ้น ตรงนี้ทำให้เราตัดสินใจเข้าตลาดหลักทรัพย์ ในปี ค.ศ.2012 แล้วพี่ใช้เวลาเตรียมตัวไม่ถึง 1 ปีนะคะ ในการนำบริษัทเข้าตลาดฯ พี่ตัดสินใจว่าจะเข้าตลาดในช่วงต้นปี 2012 แล้ว 8 พฤศจิกายน ปีนั้นพี่ก็เข้าตลาดได้ทันที 

ทำไมสามารถใช้เวลาเตรียมตัวและสามารถพาบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ในระยะเวลาสั้นขนาดนี้ครับ
หากถามว่าทำไม ก็เพราะว่าบริษัททำ Joint Venture กับบริษัทมหาชน ในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ แถมลูกค้าของเรายังเป็นบริษัทระดับโลกหมดเลย จึงทำให้สัญญาทั้งหมดของเราเป็นสัญญามาตรฐานอยู่แล้ว และในส่วนของบัญชี ออดิท ของเราก็เป็นบริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก พอเราจะเข้าตลาด เราก็เชิญกรรมการอิสระของเรา ซึ่งท่านเคยเป็นอดีตคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แล้วเราก็ใช้ธนาคารใหญ่ในการทำธุรกรรมมาตลอด เรามีครบทั้ง 3 อย่าง จึงสามารถพาบริษัทเข้าตลาดได้เลยอย่างเรวดเร็ว 

หลักจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มูลค่าบริษัทเป็นอย่างไรบ้างครับ เติบโตขึ้นขนาดไหน
วันที่เราเข้าตลาด มูลค่าตามราคาตลาด อยู่ที่ 6,700 ล้านบาท ส่วนในวันนี้ เฉพาะมูลค่า WHA Corp อย่างเดียว มูลค่าสูงสุดเราเคยอยู่ที่ 70,000 กว่าล้านบาท ก็คือขึ้นมา 10 กว่าเท่า แต่ถ้าเราทั้งกลุ่มบริษัทแล้วอยู่ที่ 170,000 ล้านบาท 

เวลาที่เติบโตของบริษัทที่รวดเร็วมากครับ จากพันล้านบาท ขึ้นมาถึงระดับแสนล้านบาท ในเวลาไม่ถึง 10 ปี มันเป็นไปได้จริงๆ ใช่ไหมครับ SME  หรือบริษัทอื่นๆ ก็ทำได้ใช้ไหมครับ 
พี่พูดเสมอว่า คนเราจะฝันต้องฝันให้ไกล แล้วต้องไปให้ไกลกว่าที่ฝัน แล้วเราจะสนุกกับงาน สนุกกับชีวิต พี่ก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มธุรกิจเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนด้วยเงินเพียง 1 ล้านบาท และพี่เชื่อว่าธุรกิจพี่มีอะไรข้างหน้าอีกมากมาย แล้วพี่ก็เคยเป็น SME มาก่อน สิ่งที่พามาถึงจุดนี้ คือ คุณต้องมี Vision ที่ชัดเจน  และอยู่ในธุรกิจที่มันใช่ ธุรกิจที่มันมีอนาคต คุณจะต้องมีวิธีการและกลยุทธชัดเจนในการที่จะเดินไปข้างหน้า อย่ามองว่าอะไรก็ไม่ใช่ อะไรก็ทำไม่ได้ พี่เห็นคนส่วนมากชอบมองว่าทำไม่ได้ แต่วิธีคิดของพี่คือ ถ้าพี่ทำอะไรไม่ได้ก็ไม่มีใครในโลกทำได้อีกแล้ว อย่างโปรเจกต์แรกพี่พูดกับลูกค้าเลยว่า “ถ้าโปรเจกต์นี้จูนทำไม่ได้ ก็ไม่มีใครในโลกทำได้อีกแล้ว” และเราก็สามารถทำให้มันเกิดขึ้นจนได้ 

การทำงานของพี่จูน เข้มข้นมากครับเหมือนกาแฟที่พี่ชอบเลย อย่างนั้นเลยต้องขอถามวิธีการทำงานของ CEO แบบพี่จูนเป็นยังไงครับ 
เป็นคนที่สนุกกับการทำงาน เป็นคนที่ชอบหาอะไรใหม่ๆ ทำเสมอ เป็นคนที่คิดว่าถ้าวันไหนเรารู้ทุกเรื่องวันนั้นเราจะเซ็งกับชีวิต มันจะดีกว่าถ้าเรารู้สึกว่าไม่รู้อะไรแล้วต้องไปตามหาให้รู้ วันนั้นแหละพี่จะตื่นด้วยความสดใส มันเป็นวิธีการกระตุ้นการเรียนรู้ของเราตลาดเวลาเพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก มีเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกวัน ถ้าคุณคิดว่าคุณรู้ทุกเรื่อง เก่งทุกเรื่อง วันนั้นชีวิตคุณจบแล้ว เราควรตื่นมาเพื่อหาความรู้ใหม่ๆ เข้ามาตลอด แต่ก็ควรจะอยากรู้ในสิ่งที่จำเป็นและควรรู้นะคะ เรื่องชาวบ้านอะไรแบบนี้พี่ไม่อยากรู้ (หัวเราะ) 

แล้วพี่จูนบริหารงาน บริหารทีมงานอย่างไรครับ ที่สามารถทำให้บริษัทเติบโตได้แบบทุกวันนี้ 
เราต้องเชื่อใจในทีมงานของเราก่อน พี่เป็นคนที่ไว้วางใจในลูกน้องของพี่มากเลยนะ พี่เชื่อความเป็นทีม ไม่เชื่อว่าบริษัทสามารถเติบโตด้วยคนคนเดียวได้ คุณจะเป็น CEO จะเป็นหัวหน้าที่เก่งขนาดไหนก็ตาม แต่หากทีมไม่ช่วย ไม่สนับสนุน ไปกับคุณไม่ได้ สุดท้ายมันก็จะจบ พี่จึงให้ความสำคัญกับทีมงานพี่มาก พี่สร้างความเชื่อถือ ความเชื่อใจระหว่างกัน เราจึงเดินไปด้วยกัน พี่พูดเสมอว่าพี่ไม่ใช่คนเก่งที่สุดในบริษัท มีอีกหลายคนที่เก่งกว่าพี่ แต่พี่จะเป็น คอนดักเตอร์ หรือ วาทยากร ในการคุมวงดนตรี คนที่เล่นดนตรีในแต่ละชิ้น เก่งกว่าพี่ทุกคนในเรื่องเครื่องดนตรีของเขา แต่คนเก่งอยู่ด้วยกันหลายๆ คน อาจทำเกิดการไม่เข้ากัน บริษัทก็เดินไปไม่ได้ พี่จึงเป็นคนที่คอยควบคุม ทำอย่างไรให้เขาสามารถเล่นด้วยกันได้เป็นวง และได้เพลงที่ไพเราะ นั่นแหละค่ะคือหน้าที่ของพี่ แต่ถ้าเล่นเพลงเดิมเรื่อยๆ สุดท้ายมันก็จะเบื่อ สิ่งที่พี่ต้องทำด้วยคือ แต่งเพลงใหม่ๆ ให้พวกเขาได้เล่น เขาจะได้สนุกกับมัน เหมือนเราได้สร้างสรรค์ผลงานอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งเหมือนกับบริษัท ที่เรามีคนเก่งๆ ให้เขาทำเรื่องเดิมๆ ตลอดเวลาพี่ก็คิดว่าเขาน่าจะเบื่อ เราจึงมีธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาให้เขาดูตลอลดเวลา เราจึงขยายธุรกิจเราไปเรื่อยๆ 

หมายความว่าวิธีการของพี่จูนคือหาธุรกิจใหม่ๆ แล้วให้คนเดิมไปทำอะไรที่ใหม่ๆ ท้าทายขึ้น อย่างนั้นใช่ไหมครับ
ใช่ค่ะ เพราะพี่ก็จะถามเสมอว่าคุณทำเรื่องเดิมเรื่อยๆ ไม่เบื่อหรอ ทำเอกสารเดิมๆ ทุกวันไม่เบื่อหรอ เลยหาธุรกิจใหม่ๆ มาให้ทำ ให้พัฒนา ให้เสริมศักยภาพ

ขอย้อนกลับไปที่วิธีการที่พี่จูนใช้สร้างลูกน้องครับว่า ทำอย่างไรให้เขาเชื่อใจเรา และเราก็เชื่อใจเขาได้
สิ่งแรกเลยคือ เราต้องให้เขาเห็นภาพเดียวกับเราก่อนแนวทางของบริษัทคืออะไร จะใช้กลยุทธแบบไหณ เข้าใจ Vision บริษัทดีแล้วใช่ไหม หลายบริษัทแต่ละอย่างไปกันคนละทาง แต่ของ WHA group เรามี 4 กลุ่มธุรกิจ มีบริษัทลูกถึง 60 บริษัท ถ้าแยกกัน ไม่ลงเรือลำเดียวกันจะไปได้ยังไง ดังนั้นทุกคนต้องเชื่อใจพี่ว่าพี่จะพาบริษัทเดินไปข้างหน้าได้ ซึ่งเราต้องมีการวางแผนธุรกิจ ของพี่นั้นวางไว้แล้วตั้งแต่ปี 2013 วางไว้แบบ 20 ปี ภาพนี้สำคัญมากเพราะถ้าไม่มีเราไปไม่ได้ แล้วเราก็เดินมาให้ได้ตามนั้น และอีกสิ่งที่สำคัญคือ คน ต้องพัฒนาคน มีการอบรมคน เพื่อสร้างคนขึ้นมา หลายปีมานี้พี่ทุ่มเทเรื่องคนเยอะมาก ซึ่งแม้คนของเราเก่งก็จริง แต่อย่าให้เขาเป็นน้ำเต็มแก้ว คุณจะต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เราจึงมีการจัดอบรมหลักสูตรใหม่ๆ เขาไปให้เขา เพิ่มไอเดีย เพิ่มความคิด มันก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกัน สร้างความเป็นผู้นำให้เขา ปีที่ผ่านมาพี่จัดโครงการ WHA innovation leader เพื่อเตรียมจะสร้างคนรุ่นใหม่ขึ้นมา สร้างTalent Group สร้าง Startup ขึ้นมาในองค์กร 

การวางแผน Strategy ในระยะยาวนี้น่าสนใจมากครับ ไม่ทราบว่าตอนนี้แผนของพี่จูนสำหรับ WHA เป็นอย่างไรครับ
พี่จะทำให้บริษัทกลายเป็นบริษัทระดับโลก ซึ่งในแผน 20 ปี จะมีการแบ่งระยะเป็น 5 ปี และแผนในช่วง 5 ปีนี้ WHA เป้าหมายคือต้องกลายเป็นอันดับหนึ่งด้านนิคมอุตสาหกรรมของอาเซียน เราก็ต้องเดินตามตรงนี้ไป 

ขนาดของบรัทใหญ่ขนาดนี้ อยากทราบว่าตอนนี้ทีมงานใน WHA group มีทั้งหมดกี่คนครับ
บริษัทของเราลีนมากค่ะ มีพนักงานทั้งหมด 500 กว่าคนเอง ซึ่งคุณก้องรู้ไหม ตอนบริษัทพี่มี มูลค่าการตลาด 30,000 ล้านบาท พี่มีพนักงานไม่ถึง 30 คน อย่างที่บอกค่ะพี่ไม่ชอบการทำงานที่ต้องใช้คนมากๆ พี่ไม่ทำ Operation ไม่พี่ทำการผลิต พี่มองแค่ว่าพี่จะใช้คนของพี่ให้น้อยที่สุด แล้วใช้ทุกอย่างเข้ามาสนับสนุน แล้วคนของเราก็ผลักดันให้มันไปให้ได้ไกลที่สุด

สำหรับผม 500 ก็ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะต้องใช้การจัดการมากมาย พี่จูนำทำอย่างไรครับให้สื่อสารให้คน 500 คนไปในเป้าหมายเดียวกัน มีหัวใจเป็น WHA เหมือนกัน 
เรื่องนี้ยอมรับว่ายาก พี่พยายามทำอยู่หลายปี สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง แต่ก็พยายามตลอด อย่างแรกเลยคือเราแบ่งคนในบรัษัทเป็นหลายๆ ระดับ ซึ่งระดับแรกเลยรองจากเราก็คือ C Level ทำอย่างไรให้เขาเข้าใจในจุดที่บริษัทจะไปเป็นภาพเดียวกัน ต่อมาคือ D Level กลุ่ม Director เราก็ต้องเอาภาพของ Strategy มาคุย มาให้เขาเห็นภาพช่วงแรกอาจจะ งงๆ แต่ต้องพยายามให้เขาทำความเข้าใจ และต่อมาคือในส่วนของพนักงานองค์กร เราก็พยายามจะทำสื่อสารองค์กร แต่ก็ต้องยอมรับว่า 500 คน ที่จะรับสารจากเราจนถึงพนักงานที่ไซต์ มันไม่ 100 เปอร์เซน ก็พยายามจะให้มี Town Hall Meeting มันทำยาก แต่ต้องทำได้ค่ะ พี่เป็นคนมีความเชื่อมั่นสูงนะ เชื่อมั่นแบบไร้สติด้วย (หัวเราะ) ที่พี่พูดอย่างนี้เพราะว่า ไม่ใช่พี่จะบอกว่าพี่ว่าเป็นคนเก่งนะ แต่เพราะพี่เชื่อมั่นว่าถ้าพี่พูดแบบนี้เราจะทุ่มเทกับมันเกิน 100 ซึ่งเวลาพี่ทำอะไรพี่ทำมากกว่า 100 อยู่แล้ว และเมื่อเราทุ่มเททำอะไรแล้วถ้ามันไม่สำเร็จ เราก็จะไม่เสียใจ เพราะเราได้ทุ่มเทกับมันเต็มที่ ทุกอณู ทุกอย่าง ที่จะพยายามทำมันให้เกิดขึ้น แล้วหากผลมันเป็นไม่สำเร็จ เราก็ต้องย้อนกลับมาดูว่าไม่สำเร็จเพราะอะไร แล้วพี่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำสำเร็จทุกโปรเจกต์นะคะ บางโปรเจกต์มานั่งดูก็พบว่า มันยังเร็วเกินไป เวลามันยังไม่ใช่ ไม่เหมาะ เราก็โปรเจกต์นี้เก็บไว้แล้วอีก 2 ปีค่อยกลับมาดูมันใหม่ 

“ดังนั้นอีกสิ่งที่สำคัญคือ

ต้องรู้ว่าทำอะไรสำเร็จเพราะอะไร และทำไม่สำเร็จเพราะอะไร 

ไม่อย่างนั้นคุณก็เหมือนดำน้ำไปเรื่อยๆ ไม่รู้เรื่องอะไรเลย”

คุยเรื่องยิ่งใหญ่ กว้างๆ กันไปแล้ว ขอคุยเรื่องเล็กๆ บ้างนะครับ อย่างเรื่อง “ใจ” ผมอยากรู้ว่าเรื่องใจสำคัญไหมครับกับการทำธุรกิจ
ใจต้องมาก่อนเลยค่ะ ถ้าคุณหดหู่ คุณถอดใจ คุณจะทำอะไรได้ ถ้าคุณไม่มีใจก็จะตื่นเช้ามาก็คิดแล้วว่า วันนี้ช่างเป็นวันที่หดหู่ เริ่มมาแบบนี้คุณจะทำอะไรได้คุณแพ้ตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มชกเลย แต่กลับกัน ถ้าคุณตื่นเช้ามาแล้วคิดว่า วันนี้ฉันสวย ฉันสู้มาก วันนี้ฉันจะลุย มันก็เหมือนการได้กำลังใจ ซึ่งพี่เป็นคนให้กำลังใจตัวเองตลอดเวลานะคะ พี่พูดเสมอว่าอย่าไปขอกำลังใจจากใคร ไม่งั้นเราต้องเพิ่งพาคนอื่นตลอด เราต้องให้กำลังใจตัวเองได้ แล้วมอบให้กับคนอื่นได้ โดยเฉพาะคนเป็นหัวหน้า ต้องมอบกำลังใจให้ลูกน้องได้ เราต้องเชื่อมั่นกับตัวเราก่อนแล้วก็มอบให้คนอื่นต่อ 

ปีนี้ประเทศไทยของเรามีแต่ข่าวไม่ดี มีเรื่องให้หนักใจ พี่ให้กำลังใจตัวเองยังไงครับ 
พี่เชื่อว่า ทุกอย่างมันจะมีทางออกค่ะ โลกเราเคยมีโรคซาร์ระบาด เคยเศรษฐกิจตกต่ำ คุณก็ต้องตามสถานการณ์แล้วระวังตัวในการทำธุรกิจหน่อย แต่อาจจะลองหาช่องทางว่าจุดไหนมันไปได้บ้าง อย่างตอนที่เมืองไทยเราน้ำท่วม GDP เราติดลบ อีกปีต่อมา GDP เราพุ่งพรวดเลย +7 มันมีลงแล้วก็ต้องมีขึ้นเสมอค่ะ เราแค่ต้องคอยมองจุดปลี่ยนตรงนั้นให้ทัน และเช่นเดียวกันเมื่อขึ้นแล้วก็ย่อมมีลง คุณก็ต้องระวัง ต้องวิเคราะห์ข้อมูลตลอด เตรียมทางไว้ 

คำถามสุดท้ายแล้วครับ ไม่ขอเรียกว่าคำถาม แต่เป็นการขอกำลังใจแบบคนที่เคยเป็น SME มาก่อนแบบพี่จูน แล้วสามารถพาบริษัทก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ช่วย่งกำลังใจให้ SME หรือนักธุรกิจคนอื่นๆ ที่อยากจะเติยโตบ้างหน่อยครับ
สิ่งแรกเลยนะคะ อย่าขี้ตกใจ อย่ากังวล รู้จักให้กำลังใจตัวเองก่อน แล้วพยายามปรับวิธีคิด พี่เห็นคนทำธุรกิจหลายคนช่วงนี้ท้อ หดหู่ อยากให้ลองปรับวิธีคิดมาเป็นว่า ทุกอย่างมันทำได้ เพราะในอนาคตธุรกิจของเราต้องโตไปอีกเยอะ อย่างการเข้ามาของเทคโนโลยีไม่ใช่ว่าจะเข้ามา Disrupt ทั้งหมด คุณต้องดูว่าจริงๆ แล้วมันเป็นโอกาสที่เรานำมันเข้ามาช่วยในการพัฒนาธุรกิจได้หรือเปล่า คุณต้องอ่านให้เยอะๆ คุณต้องวิเคราะห์ให้มากๆ มองให้ขาด ยังไงก็ไปต่อได้ค่ะ อนาคตของคุณอยู่ในมือคุณ ไม่ใช่มือคนอื่น อย่ารอแต่ความช่วยเหลือคนอื่น ไม่อย่างนั้นคุณจะช่วยอะไรตัวเองไม่ได้เลย ทุกวิกฤต ทุกช่องทางมีทางออก ช่วยเหลือตัวเองพาตัวเองไปข้างหน้าให้ได้แล้วคุณจะเจออนาคตที่สดใสแน่นอนค่ะ 

“ธุรกิจจะเติบโตได้ ถ้าวางกลยุทธ์ให้แม่นยำ และทุ่มเทลงมือทำให้เกินร้อย” นี่คือเคล็ดลับจากหญิงแกร่งแห่งวงการโลจิสติกส์ และคลังสินค้าแบบครบวงจรที่เราได้มาพูดคุยในวันนี้ และหวังว่าการมาจิบกาแฟกับสุดยอด CEO จะทำให้ทุกท่านได้แนวคิดดี ๆ และนำกลยุทธ์ไปปรับใช้ พัฒนาองค์กรของตัวเองให้เติบโต และก้าวไปสู่ความสำเร็จ และครั้งต่อไปเราจะพาไปจิบกาแฟเปิดจินตนาการกับ CEO ท่านใด ห้ามพลาดนะครับ กับ Coffee with CEO

รายการอายุน้อยร้อยล้าน แคมเปญพิเศษ Coffee with CEO ดูสดพร้อมกันได้ที่
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน 
และช่อง Workpoint 23
ทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 09.00 น.
ติดตามบทความ CEO Interview ได้ที่
Website : www.ryounoi100lan.com
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน
ทุกเช้าวันจันทร์ เวลา 06.00 น.