สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสสว. หน่วยงานที่เป็นเหมือนศูนย์กลางของ SMEs ไทย วันนี้เป็นโอกาสดีที่ได้มาพูดคุยกับคุณวิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสสว. เพื่อที่จะมาเติมเต็มความรู้ในเรื่องของการปรับตัวของ SMEs ไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเติบโตในยุคดิจิทัล
หน้าที่หลักของ สสว.
- กำหนดนโยบายและแผนการส่งเสริม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพร้อมทั้งกำกับการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหาร สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
- จัดทำงบบูรณาการด้านเอสเอ็มอีโดยร่วมมือกับกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอีในการจัดโครงการที่จะช่วยให้ผู้กอบการสามารถเติบโตธุรกิจได้
- ให้ความอุดหนุนหรือช่วยเหลือเพื่อการส่งเสริม สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีอยู่กว่า 3 ล้านราย
โครงการศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (SME One-stop Service Center : OSS)
ศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร หรือ SME One Stop Service : OSS ขึ้นในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยให้ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ เชื่อมโยง ส่งต่องานบริการของภาครัฐและภาคเอกชนให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
โครงการจัดตั้งศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ โดยศูนย์ OSS เปิดให้บริการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ ให้คำแนะนำปรึกษา จัดอบรมสัมมนาและให้บริการด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่ม OTOP และผู้สนใจเริ่มประกอบธุรกิจ ตลอดจนเชื่อมโยงผู้ประกอบการไปสู่บริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง เพื่อให้การสนับสนุนและตอบสนองความต้องการของเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ยกระดับการส่งเสริมเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ นอกจากนี้ ศูนย์ OSS ยังเป็นแหล่งจัดเก็บข้อมูลความต้องการของผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการจัดกลุ่ม ก่อนเข้าสู่กระบวนการส่งเสริมและสนับสนุนตามศักยภาพผ่านโครงการต่างๆของ สสว. อาทิ
- โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Startup)
- โครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจระดับเติบโต (SME Strong/ Regular Level)
- โครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs
- โครงการประชารัฐ เพื่อวิสาหกิจชุมชน
- สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าไปปรึกษา ศูนย์ OSS
สามารถตรวจสอบที่ตั้งของศูนย์และรายละเอียดของโครงการได้ที่เว็บไซต์ https://oss.sme.go.th/oss/
เว็บไซต์รวมทุกเรื่องเอสเอ็มอี ครบ จบในที่เดียว
https://www.smeone.info/ ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมและประชาสัมพันธ์ข้อมูล ความรู้ บริการ กิจกรรม ตลอดจนโครงการดีๆ ที่เป็นประโยชน์ ทั้งของภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการ SME ได้เข้ามาสืบค้น ค้นคว้า ลงทะเบียนรับบริการ และสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แนวคิดที่ว่า “ทุกเรื่องเอสเอ็มอี ครบ จบในที่เดียว”
SME CONNEXT ครบในคลิกเดียวเพื่อ SME
แอปพลิเคชันที่ทาง สสว. ใช้สำหรับสื่อสารข้อมูลข่าว องค์ความรู้ ข้อมูลกิจกรรมต่างๆ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมถึงเป็นช่องทางต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ SME โดยแอปพลิเคชันนี้ จะช่วยส่งเสริมและสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งตั้งเป้าในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีความสามารถในแข่งขันกับต่างประเทศ ทั้งนี้เพื่อการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
ภายใน SME Connext จะแบ่งออกเป็นทั้ง 5 ส่วนด้วยกันคือ
1. ข่าวสาร เป็นช่องทางกระจายข่าวสารที่น่าสนใจให้กับผู้ประกอบการ ทุกคนจะได้อัพเดทข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้แบบเรียลไทม์
2. องค์ความรู้ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เพิ่มพูนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง ช่วยในการพัฒนาตนเองและธุรกิจ
3. กิจกรรม เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ให้ผู้ประกอบการไม่พลาด เช่น การออกบูธ การอบรม สัมมนาต่างๆ ของสสว.
4. ธุรกิจ เป็นช่องทางในการต่อยอดธุรกิจ แบ่งเป็นหมวดหมู่ต่างๆ โดยผู้ประกอบการสามารถสร้างโปรไฟล์ของตัวเองในแอปพลิเคชั่นได้ เล่าเรื่องราวของตัวเอง ที่สำคัญลูกค้ายังขอใบเสนอราคาผ่านแอปพลิเคชั่นได้เลยรวมทั้งมีฟังก์ชั่นโทรศัพท์พูดคุยกับธุรกิจได้โดยตรงเลย
5. สิทธิประโยชน์ ช่องทางการรับสิทธิประโยชน์จากสสว.
โดยผู้ที่สมใจสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SME CONNEXT ได้ที่ https://smeconnext.com/
สสว. กับการมาของยุค 5G และ Disruption
เพื่อให้ทันต่อโลกที่กำลังก้าวไปข้างหน้า ทางสสว. ได้ ดำเนินการกิจกรรมหลายอย่างเพื่อให้เอสเอ็มอีสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร บริการและโครงการต่างๆ ได้ทั้งหมดโดยจะมีโครงการต่างๆ ที่สามารถช่วยส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอี ในปี 2563 ดังนี้
- SME Academy 365 ระบบบริการให้ความรู้ในการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร เพื่อให้บริการองค์ความรู้ในการดำเนินธุรกิจให้แก่ SMEs อย่างเป็นระบบทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่การให้ความรู้ในการทำธุรกิจแก่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของเพียงเท่านั้น ทางสสว.เล็งเห็นถึงคงามสำคัญในการพัฒนาแรงงาน เพื่อเสริมศักยภาพในแข็งแรงทั้งองค์กร
- E – Commerce เพื่อการเพิ่มศักยภาพในการพาธุรกิจเข้าสู่ออนไลน์ เพราะในยุคปัจจุบันการทำธุรกิจอยู่เฉพาะในส่วนของออฟไลน์อาจทำให้ถูก Disrupt การทำการตลาดออนไลน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ สสว. ต้องการผลักดันให้เอสเอ็มอีสามารถมีหน้าร้านออนไลน์ มีเว็บไซต์เป็นของตัวเองและนำสินค้าขึ้นไปอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต่างๆ ซึ่งปัจจุบัน ทาง สสว. สามารถผลักดันให้เอสเอ็มอีให้ทำสำเร็จไปแล้วกว่า 10,000 ราย
นอกจากนี้ยังพบว่าเอสเอ็มอีหลายราย โดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค ชาวบ้าน ผู้สูงอายุต่างๆ ถนัดเฉพาะการผลิตสินค้า ไม่เข้าใจในการทำการตลาดออนไลน์ ทาง สสว. จึงเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตส่งสินค้ามาให้ทาง สสว. ทำการตลาดออนไลน์ให้ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง ดูแลด้านการทำการตลาด โฆษณาสินค้าให้ และยังมีผู้เชี่ยวชาญในส่วนแพ็คเกจจิ้งให้คำปรึกษาในการทำบรรจุภันฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า
- โครงการ Born Global Business Model โดยกลุ่ม “Born Global” คือกลุ่มผู้ประกอบการที่จะทราบว่าสินค้าตนเองเหมาะกับตลาดโลก โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ สร้างขึ้นมาให้อยู่ในมาตรฐานระดับสากลตั้งแต่เริ่มต้นผ่านการใช้ดิจิทัล เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าและบริการ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ประกอบการภาคบริการ ที่ในหลายๆ ประเทศมีการใช้เทคโนโลยีโดยเฉพาะแอปพลิเคชั่น เข้ามาช่วยในการรับออเดอร์และคำนวนค่าต่างๆ ที่ต้องใช้ในการรับผลิตสินค้าหรือให้บริการ ดังนั้นทาง สสว. จึงอยากผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเติบโตในโมเดลธุรกิจแบบ “Born Global” มากขึ้นเรื่อยๆ
โดยสุดท้ายนี้ ดร.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า
“ ใน 2-3 ปีมานี้ หน่วยงานภาครัฐร่วมผนึกกำลังกันหลายฝ่าย ไม่ได้มีเพียง สสว. เท่านั้นที่สนับสนุนเอสเอ็มอี แต่มีอีกเป็นร้อยๆ หน่วยงานที่ผนึกกำลังเพื่อช่วยผลักดันเอสเอ็มอีเพื่อให้สามารถพัฒนาธุรกิจให้เติบโตได้ไปจนถึงระดับสากล ส่วนสิ่งที่อยากจะบอกกับผู้ประกอบการเพื่อเป็นกำลังใจ ก็คือ ประเทศไทยเรานั้นมีต้นทุนดีๆ หลายอย่าง ที่สำคัญคือเรื่อง ไทยแลนด์แบรนด์ สินค้าและบริการต่างๆ ที่ผลิตจากประเทศไทยได้รับการยอมรับจากตลาดทั่วโลกแล้ว มีอีก 2- 3 เรื่องเท่านั้นเองที่ผู้ประกอบการไทยต้องทำ คือการทำการตลาด การมีทักษะด้านดิจิทัล และการทำนวัตกรรมใหม่ให้เกิดขึ้น ทั้งกระบวรในการผลิตและในคุณภาพของสินค้าและบริการ จากประสบการณ์ของ สสว. หากทำได้ เราเห็นผู้ประกอบการเหล่านั้นโตได้แบบก้าวกระโดดในเชิงรายได้ เพราะตรงนี้ทำให้มีความเชื่อมั่นในการที่จะผนึกกำลังระหว่างกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพราะจริงๆแล้ว เอสเอ็มอีไทยยังสามารถก้าวไปได้อีกไกลในรับสากลค่ะ”
เพราะ SMEs เปรียบเสมือนกระดูกสันหลังแห่งเศรษฐกิจ หาก SMEs ยังยึดติดกับการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ และไม่รู้จักก้าวตามให้ทันโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ถ้าทุกคนไม่หยุดเรียนรู้ พัฒนา และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเทคโนโนโลยี ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงใดก็ไม่สามารถหยุดการเติบโตของธุรกิจได้ หวังว่าการได้มาพูดคุยกับคุณวิมลกานต์ ในวันนี้ จะทำให้ทุกคนที่กำลังเจอปัญหาด้านธุรกิจ หรือเศรษฐกิจ ได้มีกำลังใจลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง และพร้อมที่จะเติบโตไปอย่างเข้มแข็งในยุคดิจิทัล