กว่าจะได้กาแฟสักถ้วย ที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการคัดสรร และคั่วบด อย่างลงตัวกับความร้อนที่เหมาะสมชงอย่างพิถีพิถัน จนได้กาแฟที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จและการพาบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับการได้สัมผัสกาแฟชั้นดีสักถ้วยประเทศไทย มี SMEs เกิดขึ้นมากมายมีบริษัทจดทะเบียน นับหมื่น นับแสนแต่มีเพียงไม่กี่ร้อยบริษัท ที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติกาแฟ ของเหล่า CEO ผู้สร้างธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ในตลาดหลักทรัพย์
ใช่แล้วครับ…วันนี้เราจะพาทุกท่านไปจิบกาแฟและร่วมพูดคุย กับ คุณบุ๊ค – วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ซึ่งในคอลัมน์นี้ผมจะขอเรียกว่า “พี่บุ๊ค” ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ต จำกัด (มหาชน) แบรนด์โรงแรม รีสอร์ท ดีไซน์หรูอย่างมีสไตล์ ที่ครองความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวมีสไตล์ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ และได้รับการยอมรับในฐานะ “ฮิป รีสอร์ท” ระดับ 5 ดาว แห่งแรกๆ ในเมืองไทยมายาวนานถึง 15 ปี และในปีที่ผ่านมา พี่บุ๊ค ได้พา วีรันดา เข้าสู่ตลาดหลักทรัพท์ ด้วยมูลค่าตลาดกว่า 3,000 ล้านบาทเป็นที่เรียบร้อย เรามาเรียนรู้กับครับว่าเส้นทางของวีรันดา ก่อนและหลังจากเข้าตลาดนี้จะเป็นอย่างไร จะเติบโตขึ้นขนาดไหน ในปี 2020 นี้ครับ
หากเปรียบแบรนด์วีรันดา เป็นกาแฟจะเป็นกาแฟอะไรครับ
เป็นเหมือนกาแฟซิกเนเจอร์ของเราเลยครับ คือการนำเอสเปรสโซ มาใส่ในโคนที่เคลือบด้วยช็อกโกแลตนำเข้าชั้นดีของร้านที่ทำเข้าจากยุโรป เพื่อทำให้โปรดักส์แตกต่างแล้วก็ถ่ายรูปสวย เป็นอะไรที่ดูไลฟ์สไตล์ ดื่มกาแฟแก้วนี้แล้วเท่ จนคนอยากจะแชร์ให้คนอื่นได้เห็นนั่นแหละคือวีรันดาครับ
พี่บุ๊คทำธุรกิจมากี่ปีครับ ถึงเดินทางเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์
โอ้โห ก็ร่วม 15 ปีนะครับ
เหตุผลใดที่ตัดสินใจนำวีรันดาเข้าตลาดหลักทรัพย์
เราเป็นธุรกิจที่ต้องใช้ทุน เพราะคงไม่สามารถใช้เงินกู้ทั้งหมดไปสร้างโรงแรมได้ เราจึงต้องมีเงินทุนสนับสนุน ซึ่งแหล่งที่มาของการระดมทุนก็คือตลาดหลักทรัพย์ ที่สามารถทำให้เราได้ต้นทุนมา แล้วช่วยให้การกู้นั้นได้ต้นทุนที่ถูกต่อเนื่องไปด้วย ซึ่งเราก็มองออกอยู่แล้วว่า โปรดักส์ของเรายังสามารถไปได้อีกหลายแห่ง เช่น ภูเก็ตที่ในวันนี้ยังไม่มีวีรันดา แต่เพิ่งประกาศในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกันเมื่อไม่นานมานี้ว่าจะทำการซื้อที่ เพื่อจะเปิดบริการให้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งเราก็น่าจะสามารถไปได้เร็วขึ้นในโลเคชั่นที่เรายังไม่มี หรือถ้ามีอยู่แล้ววก็อาจจะมีอีกแบรนด์หนึ่งเพื่อเข้าไปเสริมก็ได้
หากพูดถึงมุมมองธุรกิจ วีรันดา ถือว่าเป็นธุรกิจประเภทไหนครับ
เรามองว่าทำธุรกิจไลฟ์สไตล์ แรกเริ่มคือรีสอร์ทที่หัวหิน ซึ่งสมัยนั้นหัวหินเป็นโลเคชั่นที่ฮิต แล้วก็มองว่า ณ วันนั้นผมมี Skill Set อะไรบ้างที่เคยทำมา ก็คือผมจบการบริหารธุรกิจทางด้านการเงินมา พอหลังจากเรียนจบและทำงานด้านการเงินมาสักพัก คุณพ่อก็ให้มาเปิดโรงแรม 3 ดาวที่เชียงใหม่ โดยไม่ได้บอกก่อน เลยได้เรียนรู้เรื่องธุรกิจโรงแรมมมาตั้งแต่นั้น โดยจริงๆ แล้วที่บ้าน พื้นฐานเลยคือทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมาก่อน ก็เลยทำให้รู้ว่าต้องสร้างอย่างไรให้ถูกได้
และหลังจากผมได้ไปเรียนรู้ธุรกิจไลฟ์สไตล์จาก เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ซึ่งผมเป็นกรรมการบริหารอยู่ ทำให้ได้มองเห็นเทรนด์จากต่างประเทศ นั่นก็คือ ฮิป โฮเทล เลยทำให้มองโลเคชั่นฮิปๆ อย่างหัวหิน เมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว เป็นที่แรก เมื่อเริ่มต้นเปิดเป็นรีสอร์ทขนาด 97 ห้อง มีพูลวิลล่า 2 ชั้น เป็นโปรดักส์ที่มีการเล่าเรื่องใหม่ๆ ที่สมัยก่อนยังไม่มี อย่าง บีช ฟร้อนท์พูลวิลล่า หรือ สระน้ำที่ค่อนข้างใหญ่ สมัยนั้นคนไปถ่ายรูปกันเยอะ แม้จะยังไม่มีเฟซบุ๊ก แต่ก็แชร์รูปเป็นสแปมเมลออกไป ก็ได้รับความนิยมขึ้นมาในเวลาอันสั้น
คนพูดกันว่าพี่บุ๊คเป็นคนปลุกกระแส ‘ฮิป โฮเทล’ ขึ้นในประเทศไทย
อย่าเรียกว่านั้นเลยครับ (หัวเราะ) เรียกว่าจับกระแสที่กำลังเป็นเทรนด์มา แล้วเราก็สร้างจากสิ่งที่เรามีแล้วพัฒนาต่อยอดขึ้นมา หลังจากนั้นก็มีขึ้นที่เชียงใหม่ So Sofitel ที่กรุงเทพฯ ตามมา แล้วก็ที่พัทยา ซึ่งที่พัทยาจะมีเรสซิเดนซ์ด้วย ซึ่งก็จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์อีกกลุ่มหนึ่ง แทนที่ไม่ได้อยากจะพักแค่รีสอร์ท อยากจะมีบ้าน มีคอนโดฯ อยู่ด้วย เราก็เลยสร้างให้อยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากรีสอร์ทได้ สามารถสั่ง รูมเซอร์วิสได้ เป็นเรสซิเดนซ์ที่อยู่ในโรงแรม ซึ่งทำให้กลายเป็นเรสซิเดนซ์ที่ดี เมื่อขายมือสองราคาก็จะไม่ค่อยตกเพราะมีความแตกต่างจากเรสซิเดนซ์อื่นๆ หลังจากนั้นผมก็ไปเทคโอเวอร์โรงแรมบูทีคที่ สมุยอีกที่หนึ่ง ก่อนจะมาเข้าตลาดหลักทรัพท์เมื่อกลางปี 2562 เพื่อระดมทุนสำหรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องครับ
ก่อนนำบริษัทเข้าตลาดเป็นอย่างไร แล้วหลังจากเข้าตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างไรครับ
สำหรับผมไม่ต่างมากนะ หากเทียบไลฟ์สไตล์ที่ผมมี แต่สำหรับด้านธุรกิจนั้นต้องยอมรับว่าต่าง ต้องมีความเป็นโปรเฟสชั่นนอลมากขึ้น เพื่อให้สามารถดึงโปรเฟสชั่นนอลเก่งๆ เข้ามาร่วมทำงาน เพราะบริษัทมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น มีทุนหนาขึ้นในการขยายงาน เครื่องไม้เครื่องมืออะไรที่เคยขาด ที่ที่เคยอยู่กันอย่างแออัด ก็จะปรับปรุงให้เข้ากับพนักงานที่อยากมาทำงาน เมื่อได้คนเก่งเข้ามาทำงานเราก็คิดอะไรได้มากขึ้น
มีคนเก่งและมีทุนเยอะขึ้น หมายถึงเรามีเครื่องมือทางการเงินที่เยอะขึ้นใช่ไหมครับ
ใช่ครับ มีเครื่องมือทางการเงินที่เยอะขึ้น ซึ่งก็ทำให้เราเรียกระดมทุนได้ถูกลง รวมถึงที่เรามีไอเดียเยอะ แต่เคยมีข้อจำกัดตรงนี้ เช่น เราอยากขยายไปตรงนั้นตรงนี้ แต่ที่ดินแปลงนี้แพง จ่ายไม่ไหว ตอนนี้ก็สามารถเลือกได้ว่าถ้ามันแพงไป เราสามารถแบ่งไปทำเรสซิเดนซ์บางส่วน แล้วขายเอาเงินทุนคืนกลับมาบางส่วน แล้วเงินที่เหลือเราก็สามารถทำมาทำรีสอร์ทในสไตล์ที่เราอยากทำได้
ตอนนี้มีอยู่กี่พรอพเพอร์ตี้นะครับ
มีอยู่ 5 รีสอร์ท แต่ยังไม่รวมกับเรสซิเดนซ์ที่กำลังจะเสร็จในไตรมาสนี้อีกที่หนึ่งที่กำลังจะโอน ซึ่งมูลค่าโครงการอยู่ที่ประมาณ 2 พันล้านบาท ซึ่งขายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว
Vision ที่กำลังจะทำและกำลังจะทำต่อไปของวีรันดา คืออะไรครับ
เรามองอยู่แล้วว่าทำธุรกิจไลฟ์สไตล์ เรากำลังทำรีสอร์ทขยายไปยังจุดที่ยังไม่มี แล้วเราเชื่อว่าคนไทยมีความนิยมชมชอบวีรันดาอยู่แล้วในระดับหนึ่ง นอกจากนี้ก็ยังขยายไปยังธุรกิจที่เป็นไลฟ์สไตล์อย่างต่อเนื่อง อย่างกาแฟก็เป็นไลฟ์สไตล์อีกอย่างหนึ่งที่เราขยาย ร้านขนมชื่อ Scoop Beach Café ที่อยู่พัทยาและหัวหิน เอาไอศกรีมจากที่ So Sofitel ไปพัฒนาเป็นเมนูของหวานที่ริมทะเล ก็เป็นอะไรที่ได้รับความนิยม และล่าสุดลองขยายตัวแบบด้านข้างบ้าง คือไปเทคโอเวอร์ แกรม แพนเค้ก คาเฟ่ (Gram Pancakes)และ พาโบล (Pablo Cheesetart) ซึ่งเป็นแบรนด์ขนมหวานจากโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ตอนนี้มีอยู่ 7-8 สาขาด้วยกัน และจะขยายต่อเนื่องไปเพราะเป็นขนมหวานที่มีแบรนด์ ผมเชื่อว่ายังไปได้อีกไกล
จากธุรกิจโรงแรม ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลายมาเป็นธุรกิจขนมหวานแบบนี้ได้ยังไง
จุดที่เชื่อมกัน จุดหลักของธุรกิจเราที่มีความเหมือนกัน ที่เรารู้จักตรงนี้ดีคือลูกค้า ลูกค้าเป็นกลุ่มเดียวกัน หมายถึงเรารู้จักลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์ ที่มีความเท่ ต้องการถ่ายรูปแล้วแชร์ นี่คือแกนหลักของเรา ดังนั้นพอรู้จักลูกค้ากลุ่มนี้เราก็จึงทำอะรู้ว่าลูกค้าต้องการ อย่างเช่นธุรกิจขนมแพนเค้ก ลูกค้าก็ถ่ายคลิปเขย่าจาน แล้วก็แชร์ออกไป นี่แหละเป็นตัวเรามากๆ เราถนัดตรงนี้มาก ซึ่งเราไปหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการให้มาเจอกับลูกค้าเท่านั้นเอง แล้วก็เอาทุนที่มีอยู่ เน็ตเวิร์คที่เรามีอยู่ไปขยายสาขา
“เรารู้จักลูกค้า เรารู้จักไลฟ์สไตล์ แล้วเราก็หาโปรดักส์เข้าไปจับตรงนี้ ไม่จำเป็นว่าต้องมาก่ออิฐ ฉาบปูน สร้างแต่รีสอร์ทเสมอไป”
ความท้าทายต่อไปคืออะไรครับในปีนี้
ผมว่าผมรับโจทย์มาเยอะนะครับ เราได้ระดมทุนมา ต่อจากนี้คือการจัดส่ง เราพยายามหาที่ที่ดีที่สุดมาก่อสร้างในสไตล์ที่เป็นเรา ในระหว่างนี้เราก็ยังสามารถขยายธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง อย่างธุรกิจกาแฟ ขนมหวาน ไปยังจุดต่างๆ ที่เรายังไม่มี ซึ่งมีอีกเยอะที่เรายังไปได้ ตอนนี้ก็ต้องขยายทีมงาน รับคนเก่งเข้ามาเพื่อให้เราไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น
พี่บุ๊คมีวิธีการทำงานและปรัชญาในการทำงานอย่างไรบ้างครับ
ผมเกิดและเติบโตมาในครอบครัวคนจีน คุณพ่อทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ตัวเราเลยจะมีความเป็นผู้ประกอบการเข้มข้นนิดนึง เวลาคุยกับลูกน้องหรือเวลาทำอะไร เราจะห่วงเรื่องต้นทุนทุกเม็ด การจะลงเงินทำอะไรก็ต้องให้เต็มที่ คุ้มค่า เราถูกสร้างมาเป็นแบบนี้และก็อยากจะถ่ายทอดตรงนี้ให้องค์กรให้เรียบที่สุด ไม่ต้องมีขั้นตอนเยอะ ไม่แบ่งชั้นการทำงานเยอะ เพื่อให้ทุกคนมีเซนส์ของการเป็นผู้ประกอบการ ว่าต้องทำอย่างไรให้คุ้มค่า ทำยังไงให้ประหยัด ไปจนถึงล่างสุด
ในเรื่องนี้เราก็สอนไปถึงลูกด้วย เวลาพาลูกไปเที่ยวต่างประเทศก็จะไปดูโรงแรมด้วย ไปดูไลฟ์สไตล์ด้วย คุยธุรกิจกับลูกไปด้วย ให้ลูกรู้สึกว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำให้เขาเห็นว่าในวันหยุดคุณพ่อก็ยังต้องทำงานนะ ซึ่งผมก็เห็นพ่อผมเป็นแบบนี้มา และก็อยากถ่ายทอดให้ทั้งองค์กรและครอบครัวเห็นถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้
จากการพูดคุยสัมผัสได้ว่า พี่บุ๊คมีความเป็นนักการเงิน นักกลยุทธ์ และศิลปิน อยู่ในตัว ทุกอย่างเหล่านี้มันรวมกันอยู่ในตัวพี่บุ๊คได้อย่างไรครับ
ผมว่าแต่ละคนต้องหาตรงนี้ให้เจอ ว่าเราโตมาแบบไหน แล้วระหว่างนั้นเราสะสมทักษะต่างๆ จากประสบการณ์ในชีวิตมาแบบไหน แล้วนำสิ่งเหล่านั้นมาต่อยอด มาทำธุรกิจที่ตรงกับช่วงนั้นและต้องเหมาะกับทักษะของเรา เพราะถึงแม้เทรนด์ในช่วงนั้นจะน่าทำ น่าลงทุนก็จริง แต่ตัวเราไม่มีทักษะ ไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนั้น เราเข้าไปก็สู้เขาไม่ได้ เราต้องเลือกในสนามที่เราถนัด รวมถึงความชอบด้วย แล้วก็นำทักษะที่เราถนัดมาทำให้สอดคล้องกับเทรนด์ของประเทศ ของโลก แบบนั้นเราจะเดินไปได้
พี่บุ๊คมีเทคนิคในการค้นหาความชอบ Skill Set หรือชุดทักษะในตัวเราไหมครับ
เกิดจากการเรียนรู้ด้วยประสบการณ์นะ ผมว่าง่ายที่สุดต้องรู้ว่าเราไม่ชอบอะไร ก็พยายามตัดทอนตรงนั้นลง แล้วหาคนเก่งมาทำแทน หรือต้องตัดธุรกิจที่เราไม่ชอบออกไป เพราะอย่างผมก็มีธุรกิจที่ทำแล้วไม่ถนัด ผมไม่ชอบ ผมก็ขายธุรกิจนั้นออกไปบ้างเหมือนกัน เพื่อที่จะเอาทรัพยากรทั้งเวลา ทั้งเงิน ทั้งลูกน้อง มาทำในจุดที่ถนัด เหมือนกับหุ้น แทนที่จะขายตัวที่มีกำไร ต้องเลือกขายตัวที่ขาดทุน เพื่อนำเงินนั้นมาลงในหุ้นที่มีกำไร ที่คุณรู้จักความเป็นไปของธุรกิจดี มันก็จะยิ่งกำไร ไม่ใช่ว่าไปขายหุ้นที่กำไรแล้วเอาเงินมาเฉลี่ยกับหุ้นที่ขาดทุน ซึ่งมันมีแต่จะทำให้แย่ลงไปเรื่อยๆ ต้องเลือกที่จะไปซื้อตัวคูณ แล้วขายตัวหารออก เหมือนการใช้ชีวิตที่อาจไม่จำเป็นต้องรู้ว่าชอบอะไร แต่ต้องตัดตัวที่เราไม่ชอบออก ซึ่งมันง่ายกว่า
ขอความรู้สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทุ่มเทเพื่อทำให้ธุรกิจนั้นดี ต้องทำอย่างไรบ้างครับ
ต่อเนื่องจากคำถามก่อนหน้านี้เลยครับ คือถ้าสามารถตัดเรื่องที่ไม่ชอบออก เราก็จะเหลือเวลาที่สามารถไปทำอะไรที่ชอบ อย่างเวลาผมจะไปเปิดรีสอร์ทหรือเรสซิเดนซ์ที่ไหน ผมก็จะไปลองพัก ไปดูคู่แข่งที่นั่นด้วยตัวเอง ทำให้เรารู้ลึก รู้จริง เพราะเงินที่เรามีอยู่นั้นมันจำกัด และถึงแม้องค์กรจะใหญ่ขึ้น มีลูกน้อง แต่ในบางครั้งเราก็ต้องลงไปดูเอง เราจะได้เข้าใจทั้งความรู้สึกและอารมณ์ลูกค้า เพื่อนำมาพัฒนาต่อได้
พี่บุ๊คมองว่าตัวเองเป็นซีอีโอแบบไหนครับ
ผมมองว่าผมเป็นซีอีโอที่เป็นผู้ประกอบการ มีความเป็นเจ้าของสูง อาจจะเข้มข้นกับลูกน้องไปบ้างในบางเรื่องเพราะเรามองว่าใช้เงินของเรา ไม่ได้เหมือนมืออาชีพเสียทีเดียว แต่เราก็สวมหมวกอีกใบที่เป็นซีอีโออยู่เหมือนกัน เพราะผู้ถือหุ้น กรรมการ ก็เป็นผู้เลือกเรามา ก็ทำให้คุ้มที่เขาแต่งตั้งเรามา เราก็ต้องเพิ่มศักยภาพของตัวเองทุกปี เช็คว่าปีนี้เราทำอะไรที่พลาด และเราจะทำอะไรให้เป็นตัวบวกที่เพิ่มขึ้นเพื่อให้ทุกคนยังไว้ใจเราต่อ แล้วก็ต้องถ่ายทอดตรงนี้ให้ลูกน้องทราบว่า ผมก็ได้รับแรงกดดันเยอะนะ พวกคุณก็ต้องทำงานให้ได้ตามนี้ ทุกคนพลาดได้แต่ต้องพลาดแบบเป็นบทเรียน เพื่อให้อนาคตยังเดินไปต่อได้แบบสดใส
แล้วในเรื่องชีวิตส่วนตัวและการทำงานทุกวันนี้พี่บุ๊คพอใจกับมันขนาดไหน แล้วเป้าหมายข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ
วันก่อนผมเพิ่งอ่านเจอว่า ซีอีโอประสบความสำเร็จตอนอายุ 60 – 70 ปี เยอะมาก ผมมองว่าผมยังเพิ่งเริ่มด้วยซ้ำ ผมเพิ่งได้ ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ได้เครื่องไม้เครื่องมือที่จะทำให้ผมไปได้ไวขึ้น ซึ่งผมมองว่าหลังจากนี้อีก 3 – 5 ปี น่าจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ในความเสี่ยงที่ลดลงเพราะเราพร้อมขึ้น เรายังมีเวลาทองอีกเยอะ
สุดท้ายอยากให้พี่บุ๊คชี้แนะถึงซีอีโอรุ่นใหม่ นักบริหารรุ่นใหม่ หรือผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ในการทำงานยุคที่มีแต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นในประเทศของเราหน่อยครับ
ด้วยความที่เงินมันมีจำกัด เราก็ต้องรู้จักที่จะใช้ให้มันถูกที่ถูกทาง มีพลาดได้นะครับ ผมก็เคยพลาด แต่ควรพลาดเรื่องเล็กๆ แล้วไปได้ตัวใหญ่ๆ มากกว่า ส่วนตัวผมมองว่าความเสี่ยงมีทั้งบวกและลบ อย่างผมถึงแม้จะเป็นซีอีโอที่เคยมีเงินทุนพอสมควรในการเริ่มทำรีสอร์ทที่แรก ผมก็ยังต้องกู้เพื่อเก็บเงินบางส่วนไว้ เพราะเผื่อว่ามันดีผมจะได้มีเงินทุนไปทำที่ที่สองต่อ ดังนั้นความเสี่ยงมันไปในทางบวกก็ได้ ถ้าเราบริหารได้ดี ก็อยากให้เพื่อนๆ นักธุรกิจมองว่า ทุกอย่างมีบวกและลบ แต่เราจะเลือกใช้วิธีการไหนในการบริหารมากกว่า ซึ่งจากตรงนี้ผมมองว่า ทุกคนต้องสะสม Skill Set เพราะโอกาสที่จะมาในชีวิตมันมีจริง ความโชคดีนั้นมันมีจริงๆ แต่มันจะมาในวันที่คุณพร้อมเท่านั้น ยกตัวอย่าง ในวันที่ผมได้ที่ดินแปลงนี้ ที่ So Sofitel Bangkok ถ้าวันนั้นผมไม่เคยทำวีรันดามา พาร์ทเนอร์ที่นำที่ดินมาเสนอไม่เห็นว่าผมมีทักษะมากพอในการทำโรงแรมได้ บริหารการเงินได้ ที่ดินแปลงนี้ก็คงไม่มาถึงผม คงไม่ได้ทำร้านอยู่ตรงนี้ ดังนั้นเวลาที่โชคมันมาเราต้องพร้อม ไม่ว่าจะทรัพยากรเงิน ความรู้ คอนเนคชั่น พอเรามีโอกาสมาแล้วเราสามารถใช้และไปต่อได้ เราคงจะคาดหวังแต่ว่าโชคดีถูกล็อตเตอรี่อย่างนั้นคงไม่ได้ เราต้องสะสมทักษะไปเรื่อยๆ จนวันที่โชคดีมา เราก็จะสามารถจับโอกาสไว้ได้