ดนุชา วีระพงษ์ CEO ECL ผู้พาบริษัทเติบโตด้วยการบริหารอย่างสมดุล

1774

กว่าจะได้กาแฟสักถ้วย ที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการคัดสรร และคั่วบด อย่างลงตัวกับความร้อนที่เหมาะสมชงอย่างพิถีพิถัน จนได้กาแฟที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จและการพาบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับการได้สัมผัสกาแฟชั้นดีสักถ้วยประเทศไทย มี SMEs เกิดขึ้นมากมายมีบริษัทจดทะเบียน นับหมื่น นับแสนแต่มีเพียงไม่กี่ร้อยบริษัท ที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติกาแฟ ของเหล่า CEO ผู้สร้างธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ในตลาดหลักทรัพย์

ซีอีโอที่ผมจะมาจิบกาแฟด้วยวันนี้คือ คุณแดน ดนุชา วีระพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตะวันออกพาณิชย์ ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัทด้านสินเชื่อที่ได้รับการยอมรับอย่างมากในภาคตะวันออกของไทย กับแนวคิดและการทำงานอย่างเหนือชั้น ที่สามารถทำให้บริษัทเติบโตมายาวนานกว่า 40 ปี และเคยมีมูลค่าบริษัทสูงถึง 5 พันล้านบาท

ถ้าเปรียบเทียบ ECL เป็นกาแฟ พี่แดนคิดว่า ECL เป็นกาแฟรสชาติไหนครับ
ผมว่า ECL น่าจะเป็นมอคค่า เพราะเรามีบริษัทมหาชนจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมถือหุ้นอยู่ เราจึงเป็นเหมือนกาแฟที่มีรสชาติของช็อกโกแลตปนอยู่

จริงๆ แล้ว ECL จัดอยู่ในธุรกิจประเภทไหนครับ
ECL หรือ Eastern Commercial Leasing  ชื่อภาษาไทยคือ ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง เป็นบริษัท Non-Bank คือสถาบันที่ให้บริการทางการเงิน แต่ไม่ใช่ธนาคาร ไม่อยู่ใต้ระบบของแบงก์ชาติ เราปล่อยเงินกู้สำหรับคนซื้อรถยนต์มือสองเท่านั้น รถเก๋ง รถบิ๊กไบค์ รถบรรทุก และชื่อบริษัทก็บอกแล้วว่า Eastern คือภาคตะวันออก จึงไม่ได้มีสาขาทั่วประเทศไทย เราเน้นครอบคลุมแค่ กรุงเทพ พัทยา ชลบุรี ศรีราชา ระยอง จันทบุรี บนความเชื่อที่ว่า ภาคตะวันออกเป็นภาคที่มี GDP สูงสุด มีคนมีเงินเดือน มีรายได้ดีที่สุด รถส่วนใหญ่ที่ดีก็อยู่กรุงเทพฯและภาคตะวันออกมากที่สุด ถนนที่ดีที่สุด หากต้องขับได้เร็วและปลอดภัยที่สุด ก็คือกรุงเทพฯและภาคตะวันออก ที่นี่เราจึงเป็นเหมือนเจ้าที่ ที่ใครคิดจะซื้อรถยนต์ต้องคิดถึง ตะวันออกพาณิชย์ลีสซิ่ง

ECL เปิดทำการมากี่ปีแล้วครับ
ทั้งหมด 38 ปีครับ เริ่มต้นจากธุรกิจครอบครัว ผู้ถือหุ้นเริ่มแรกเลยคือ ครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่ผมเอง จนกระทั่งในปีที่ 20 กว่า ก็คิดได้ว่าตลาดหลักทรัพย์เป็นแหล่งระดมทุน ซึ่งการเป็นธุรกิจครอบครัวก็มีทั้งจุดแช็งและจุดอ่อน แต่เมื่อเราทำธุรกิจด้านการเงินจำเป็นต้องใช้เงินเยอะ ทำเงินบนเงิน จึงต้องการระดมทุนจากนักลงทุน พอและเมื่อปี พ.ศ. 2546 คือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เราก็เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตรงนี้ทำให้คนเห็นเราเป็นบริษัทที่มีมาตรฐานมากขึ้น จนมีบริษัทลีสซิ่งจากประเทศญี่ปุ่น ขอเข้ามาร่วมทุนกับเราด้วย ทำให้ปัจจุบันเราจึงเป็นบริษัทลูกครึ่งไทย- ญี่ปุ่น

ข้อดีที่พบจากการนำ ECL เข้าตลาดหลักทรัพย์ มีอะไรบ้างครับ
ทำให้มูลค่าทุกอย่างของบริษัทมีความโปร่งใส ชัดเจน และคนที่เข้ามาดูธุรกิจของเรามีความเชื่อมั่น เพราะการเข้ามาอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องถูกตรวจสอบข้อมูลทุกอย่าง เราต้องแสดงข้อมูลทุกอย่างว่าบริษัทเป็นยังไง งบการเงินของบริษัทต้องถูกตรวจสอบโดยบริษัทที่มีมาตรฐานชั้นนำเท่านั้น เหมือนกับการเปิดกระจกให้ดูได้เลย นักลงทุนอยากจะซื้อหุ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อวันนี้ ขายพรุ่งนี้ หรือการซื้อระยะยาว จะขอร่วมทุนด้วย ก็สามารถเชื่อมั่นได้ว่าตัวเลขของกิจการของเรา เป็นตัวเลขที่เที่ยงแท้

ด้วยกิจการของผม ไม่ได้มีโรงงาน ไม่ได้มีสินค้าที่จับต้องได้ ความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสูงสุด ที่ผมต้องรักษาเอาไว้และทุกคนต้องเห็นได้ด้วย อย่างธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทเรา กว่า 7-8 ธนาคาร เขาไม่ได้เชื่อถือเพราะเรามีที่ดิน มีโรงงาน แต่เขาเชื่อถือเพราะเรามีประสบการณ์การทำงานกว่า 38 ปี และมีความน่าเชื่อถือในตลาดสูง  ทำกิจการเป็น เรียกได้ว่าหากเป็นเรื่องของรถมือสองเราไม่เป็นรองใคร ไม่ว่าจะเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจ ไม่ว่าจะธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ บริษัทประกัน เต็นท์รถกว่า 500 – 600 เต็นท์ ที่เชื่อมั่นว่า เมื่อลูกค้าจัดไฟแนนซ์กับ ECL แล้ว ลูกค้าจะไม่มีประวัติที่ไม่ดี เราไม่เคยมีประวัติที่คู่ค้าต้องไปทวงเงิน จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราวกัน เรื่องนี้เราไม่เคยมีเลย

บอกมูลค่าธุรกิจของ ECL หน่อยได้ไหมครับ
ความจริงถ้าเราพูดถึงมูลค่าของบริษัท บริษัทหนึ่งก็คือการเอา ราคาหุ้นปัจจุบัน ไปคูณกับ จำนวนหุ้น ก็จะได้มูลค่า ซึ่งครั้งหนึ่งคือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เราเคยมีมูลค่าสูงขึ้นไปถึง 4,000 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเรามีการเติบโตค่อนข้างเยอะ แต่หากเอามูลค่าตลาดปัจจุบันมาคำนวน มูลค่าของเราก็อยู่ที่ 2,000 กว่าล้านบาท

ปัจจุบัน ECL มีลูกค้าทั้งหมดกว่า 50,000 ราย มีพอร์ทลูกหนี้ ประมาณ 8,000 ล้าน จริงๆ ความตั้งใจของผมอยากให้อยู่ในเกณฑ์ 10,000 ล้าน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นตัวเลขจากความตั้งใจของผม ที่ต้องการพาบริษัทไปให้ถึงเป้า

สำหรับหลายคนที่สงสัยครับว่า มันเป็นไปได้หรือ ที่บริษัทคนไทยจะมีตัวเลขการทำธุรกิจเป็นหลัก 10,000 ล้าน
มันเป็นเรื่องปกติเลยนะครับ ที่บุคคลคนหนึ่งมีเป้าหมายอยากมีเงินล้าน โตขึ้นอีกอยากมีเงิน สิบล้าน ร้อยล้าน อันนี้สำหรับคนคนหนึ่งนะครับ แล้วสำหรับบริษัทที่มีพนักกงานหล่ะ ซึ่งบริษัทผมมีพนักงาน 300 คน ดังนั้น พันล้านบาท หมื่นล้านบาท เป็นเรื่องธรรมดา เป็นไปได้ครับ ยิ่งค้าเงินบนเงินยิ่งต้องทำให้ได้ด้วย และผมเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นกิจการอะไรก็แล้วแต่ อย่างหลักร้อยล้านถ้าท่านส่งต่อบริษัทของท่านดีๆ 500 – 1,000 ล้านบาท ต้องมาแล้ว

พี่แดนสอนว่าทำธุรกิจต้องมีเป้าหมาย แล้วเป้าหมายของ ECL คืออะไรครับ
หากเทียบขนาดในตลาดหลักทรัพท์บริษัทเรายังถือว่าขนาดเล็ก หากเป็นตลาดโดยรวมก็อยู่ในระดับกลางๆ สำหรับเป้าหมายของผมอยากให้ ECL เป็นบริษัทไฟแนนซ์รถ ที่ดีที่สุด ไม่ใช่ใหญ่ที่สุดนะครับ อยากดีจนลูกค้ารู้สึกว่าหากอยากซื้อรถยนต์ต้อง ECL เท่านั้น หลายๆ เรื่องเราทำได้ดีกว่า แม้เราอาจจะไม่ได้เป็นที่รู้จักทางด้านการตลาดเหมือนคู่แข่ง แต่สำหรับลูกค้ากว่า 60,000 รายของเรา มีผลตอบรับกับเราที่ดีมากและยังกลับมาเป็นลูกค้าของเราอย่างต่อเนื่อง

ดีที่สุดในมุมมองซีอีโออย่างพี่แดนคืออะไรครับ
คือต้องเป็นบริษัทที่ต้องมีความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกประเภทว่าถ้าหากเป็น ECL ต้องเชื่อเขา เพราะเขาทำได้ดี และเป็นที่ยอมรับทั้งไทยและต่างประเทศ ตอนนี้ผมก็มีหุ้นส่วนเป็นบริษัทมหาชนจากต่างประเทศด้วย ดังนั้นเรื่องชื่อเสียงก็ต้องอยากให้ดีแบบครบท้วน

ในปี 2020 นี้ ECL จะเป็นอย่างไรบ้างครับ
ปีนี้เป็นปีที่มีความท้าทายเยอะมาก หากดูตามข่าวเศรษฐกิจทั่วไปก็จะเห็นว่า ไม่มีใครกล้าโตหรือทำสิ่งใหม่ในปีนี้ จึงเป็นปีที่ผมอยากจะรักษาศักยภาพของ ECL ไว้ให้เติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งอย่างไรก็ตามหากต้องพูดกับผู้ถือหุ้น ก็ไม่มีอะไรต้องกังวลใจครับ เรายังเป็นบริษัทที่มียอดขายและกำไรเติบโตสม่ำเสมอ

ปีนี้คาดหวังรายได้เท่าไหร่ครับ
ตามแผนที่วางไว้คาดว่าน่าจะเป็นปีแรกที่เรามีรายได้แตะ 1,000 ล้านบาท จากการเติบโตตลอด 4 ปีที่ผ่านมาเราโตขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยปีละ 30 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขที่ว่านี้คือมาจากจำนวนทรัพย์สิน รายได้ ลูกค้า และกำไร ครับ

ปรัชญาการทำงานแบบซีอีโอของพี่แดนเป็นยังไงครับ
สำหรับผมคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงต้องบริหารคนเป็น บางทีคนอาจจะมองว่า ทำไมผมถึงดูว่าง มีเวลาไปข้างนอก แต่ผมมองว่าถ้าหากซีอีโอที่อยู่แต่ในออฟฟิศไม่ดีหรอกครับ ซึ่งผู้บริหารบางคนเลือกจะทำทุกอย่างเอง อยู่ออฟฟิศตั้งแต่เช้า จน 3-4 ทุ่ม ทำให้พนักงานนั่งเกร็งกันไปหมด แต่โดยไลฟ์สไตล์ผมเนี่ย ผมมีคอนเนคชั่น ให้ความสำคัญกับสังคม ปรึกษาธุรกิจระหว่างกัน เพื่อหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ๆ ตลอดเวลา

เรื่องภายในออฟฟิศผมก็ต้องมีคนจัดการให้ผมที่ดีพอ หลักๆ ผมมีอยู่ 4 แผนก คือ การตลาด การเงิน การจัดการความเสี่ยง และการเก็บเงิน ซึ่ง 4 แผนกนี้ผมมีผู้บริหารระดับสูงที่เป็นลูกน้องผมและผมคัดเลือกเอง ต้องเป็นคนที่มีความสามารถจริงๆ โดยผมเลือกที่จะเป็นโชกุน แล้วมีซามูไร 4 คนที่แข็งแรงมาก ทำให้อะไรก็เข้าถึงผมไม่ได้ ซึ่งหมายถึงปัญหาจะเข้าถึงผมไม่ได้ แล้ว 4 ซามูไรทำหน้าที่บริหารงานในส่วนนั้นๆ แทนผม ส่วนผมเป็นคนกลางที่คอยจัดการให้ 4 แผนกนี้ให้บาลานซ์ แล้วทำให้ธุรกิจมันสามารถเดินต่อไปได้ หรืออาจจะหมายถึงว่า เหมือนคอนดักเตอร์ ผมไม่ควรจะไปเล่น แต่ควรทำให้ทุกแผนกทำงานสอดคล้องกันได้แบบสมดุล

แปลว่าพี่แดนมองว่าซีอีโอควรเป็นเหมือนคอนดักเตอร์
ที่ยกตัวอย่างนี้เพราะคอนดักเตอร์มีนักดนตรีที่ต้องดูแลกว่า 80 ชีวิต ซึ่งเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นของนักดนตรีก็มีความแตกต่างกันไป ซึ่งคอนดักเตอร์เล่นดนตรีเป็นทุกชิ้น อาจจะไม่ได้เก่งทุกด้าน แต่สามารถทำให้ทุกอย่างมันเกิดความสมดุล ซึ่งการเป็นซีอีโอแบบคอนดักเตอร์คือผู้ประสาน ไกลเกลี่ย ผลประโยชน์ ผู้ถือหุ้น กรรมการ พนักงาน คู่ค้า ทำทุกอย่างให้ลงตัว ซึ่งหากผมเป็นซีอีโอที่ลงไปเล่นเอง ไปทำงานเองเลย อย่างผมไปทำงานแผนกบริหารความเสี่ยง ผมขอตรวจ ขอดู ทุกอย่าง ผมก็จะติดอยู่กับแผนกนี้ แล้วอาจทำให้แผนกอื่นมันเป๋ออกไปอีก ซึ่งผมมองว่า การเป็นซีอีโอมันต้องบริหารความสมดุลตรงนี้ให้ได้

ส่วนคนญี่ปุ่นเรียกตำแหน่งซีอีโอว่า Representative (ตัวแทน) เวลาเขาหาบริษัทนั้นนี้ว่าทำอะไร เป็นอย่างไร เขาจะถามว่า Representative คือใคร ใครเป็นตัวแทน เป็นภาพลักษณ์ของบริษัทนั้น ซึ่งภาพลักษณ์ต้องดี มนุษสัมพันธ์ต้องดี และต้องมีความชำนาญในบริษัทที่ดูแลอยู่อย่างไม่มีข้อให้ตำหนิเลย นอกจากนี้ต้องเป็นคนกว้างขวาง เป็นที่รู้จัก ต้องทำให้คนรู้สึกได้ว่าเป็นบริษัทที่น่าร่วมงานด้วย

แล้วเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งองค์กร ทั้งชีวิต ของพี่แดนเป็นอย่างไรครับ 
ถ้าคุณมีการบริหารจัดการคนที่ดี สามารถแบ่งงาน จัดการได้ดี คุณก็จะมีเวลาออกไปหาคู่ค้า ไปเยี่ยมคู่ค้าและคนที่ทำงานร่วมกับบริษัทเรา แล้วก็ยังสามารถมีอิสระในการใช้ชีวิต ส่วนในการบริหารชีวิตผมจะสอนลูกเสมอ เรื่องกระจายความรู้และกำลังทรัพย์ เราอาจจะไม่ใช่คนเข้าวัดเข้าวามากนัก แต่ให้ช่วยเหลือบริจาค บอกลูกเสมอว่าเวลาไปตลาดอย่าไปต่อราคาแม่ค้าเค้านะ พวกเขาขายของจากใจ ให้เค้าคิดเสมอว่าถ้าเราเป็นคนที่มีฐานะ มีความสามารถ ต้องช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า ผมมองว่าการช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกันเป็นหน้าที่ของ Human Being (ความเป็นมนุษย์) ที่ต้องช่วยเหลือกันต่อๆ ไป

ในฐานะที่เป็นนักการเงิน มันสำคัญไหมครับกับการที่ให้เงินมันหมุนเวียนไปในเศรษฐกิจของเรา
สำคัญไหม ผมว่ามันไม่สำคัญนะครับ แต่สำหรับคนที่เรียนการเงินมาเมื่อประสบความสำเร็จ และสามารถทำได้ดี คุณต้องสามารถทำให้เงินนั้นเข้าไปช่วยส่งเสริม หมุนเวียนในระดับรากหญ้า คนในหลายๆ ระดับ อย่างบางคนร่ำรวย ซื้อแต่แบรนด์เนม ของในห้าง ไม่ยอมเข้าตลาดเลย ไม่เที่ยวต่างจังหวัดเลย เงินนั้นมันก็ไม่ช่วยสังคม

อยากให้พี่แดนฝากแนวทางการทำงาน สำหรับนักธุรกิจรุ่นใหม่ เป็นแนวทางสำหรับคนที่อยากทำธุรกิจให้เติบโตไปข้างหน้า หรือสำหรับคนที่อยากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบ ECL มีวิธีการอย่างไรบ้างครับ
สำหรับคนรุ่นใหม่นะครับ ที่อายุ 20 – 30 กว่าปี มีโอกาสมากกว่าผมอย่างมาก เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเยอะ 1 วัน 1 ปี ของคุณ มันไม่เหมือนสมัยก่อนของผมที่ต้องใช้เวลาอย่างมากกว่าจะมาจนถึงวันนี้ เพราะสมัยนี้ทุกอย่างอยู่บนออนไลน์หมด ข้อมูลต่างๆ หาได้อย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นอย่ามัวแต่เสียเวลาในช่วงอายุ 20 – 30 ปี กับสิ่งที่มันไม่เป็นประโยชน์ ผมว่าถ้าคนอยากจะรวย อายุ 40 ก็ควรต้องรวยแล้ว คุณต้องไปให้ถึงดวงดาวให้ได้ภายใน อายุ 40 ปี จะได้มีเวลามาใช้ชีวิตหลังจากประสบความสำเร็จแล้วเร็วๆ และยังสามารถช่วยคนได้อีกต่อๆ ไป