CEO JWD ผู้ไม่หยุดค้นหาสิ่งใหม่ ที่มีโอกาสและคนอื่นยังไม่ได้ทำ

1012

กว่าจะได้กาแฟสักถ้วย ที่เข้มข้น กลมกล่อม ผ่านการคัดสรร และคั่วบด อย่างลงตัวกับความร้อนที่เหมาะสมชงอย่างพิถีพิถัน จนได้กาแฟที่ดีที่สุดเช่นเดียวกับการทำธุรกิจ ที่ต้องผ่านการทำงานอย่างหนัก และพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ธุรกิจก้าวไปสู่ความสำเร็จและการพาบริษัทเข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก็คงเป็นเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับการได้สัมผัสกาแฟชั้นดีสักถ้วยประเทศไทย มี SMEs เกิดขึ้นมากมายมีบริษัทจดทะเบียน นับหมื่น นับแสนแต่มีเพียงไม่กี่ร้อยบริษัท ที่สามารถจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จคงจะดีถ้าเราได้มีโอกาสสัมผัสกับรสชาติกาแฟ ของเหล่า CEO ผู้สร้างธุรกิจพันล้าน หมื่นล้าน ในตลาดหลักทรัพย์

ซีอีโอในสัปดาห์นี้ที่ผมจะมาขอจิบกาแฟ พูดคุยด้วยเป็นรุ่นพี่มัธยมของผมเองครับ คุณพี ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่มีมูลค่าตลาดกว่า 7,000 ล้านบาท และเคยมีมูลค่าตลาดสูงขึ้นไปถึง 13,500 ล้านบาท และยังเติบโตขยายไปจนทั่วอาเซียน ซึ่งการพูดคุยในวันนี้ผมรับรองได้ว่าจะต้องได้แนวคิดและวิธีการทำงาน และการบริหาร ดีๆ ที่สามารถนำไปปรับใช้กับทุกบริษัทได้อย่างแน่นอนครับ

JWD เข้าตลาดมาทั้งหมดกี่ปีแล้วครับ 
เราเข้าตลาดมาตั้งแต่ 2015 ปีนี้ก็ครบ 4 ปีแล้วครับ 

คุณพีเองทำธุรกิจมากี่ปีแล้วครับ 
ผมเริ่มเป็น CEO มาตั้งแต่ปี 2005 ตอนนี้ก็ถือว่าเข้าปีที่ 16 

สำหรับปีนี้ความตื่นเต้นของ JWD มีอะไรบ้างไหมครับ
ปีนี้ทุกคนต่างบอกว่าเป็นปีที่จะหิน แต่สำหรับเราก็คิดว่าเราพอจะมีพื้นฐาน แล้วก็ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้แค่ลงทุนในเฉพาะในเมืองไทย เรายังลงทุนในภูมิภาคด้วย ซึ่งผมคิดว่าการเติบโตในภูมิภาคน่าจะสามารถเข้ามาทดแทน การเติบโตในเมืองไทยที่ปีนี้เติบโตค่อนข้างน้อย 

สำหรับคุณพีคิดว่า JWD เปรียบเสมือนกาแฟชนิดใดครับ 
ผมไม่ดื่มกาแฟนะ ผมชอบดื่มชา โดยเฉพาะชาจีน ชาใต้หวัน ชาญี่ปุ่น เวลาเดินทางไปประเทศเหล่านี้ก็จะซื้อกลับมา แขกหลายท่านที่มาเยี่ยมที่นี่แล้วได้ดื่มชา ก็จะติดใจในชาของผมในเรื่องความหอม 

อย่างนั้นถ้าเปรียบ JWD เป็นชา จะเปรียบเป็นชาอะไรดีครับ
ผมคิดว่าเป็นชาจีนผสมชาญี่ปุ่น มีการผสมผสานเหมือนกับ JWD ที่มีการผสมผสานเป็น Multi-Cultures ในการทำงานเพราะเรามองว่าเราจะเป็น Regional Player ไม่ควรจะเป็นเพียงชนชาติใดชนชาติหนึ่ง รวมถึงพนักงานในบริษัทของเราก็ไม่ได้มีแค่เฉพาะชาวไทย เรามีพนักงานชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา พม่า และลาว ผมเลยมองว่าเราจะต้องเป็นชาที่รสชาติแบบอินเตอร์เนชันแนลที่ทุกๆ คนสามารถดื่มได้ 

5 ปีในตลาดหลักทรัพย์ JWD เคยมีมูลค่าธุรกิจสูงสุดเท่าไหร่ครับ 
เราเคยมีมูลค่าธุรกิจขึ้นไปสูงสุดประมาณ 13,500 ล้านบาท ส่วนปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 7,000 กว่าล้านบาทครับ 

แล้วยอดขายของ JWD เป็นอย่างไรบ้างครับ 
ตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดยอดขายก็วิ่งอยู่ประมาณ 2,000 ล้านบาท หลังจากเข้าตลาดมาสู่ปีที่ 5 คาดว่าปีนี้น่าจะสามารถปิดได้ที่ 4,000 ล้านบาท 

จริงๆ แล้วมันทำได้จริงใช่ไหมครับ กับการพาธุรกิจก้าวขึ้นมาเป็นพันล้าน หลายพันล้านบาท
ผมว่าทำได้นะ แต่ต้องใช้เวลาและต้องดูว่า Segment ของธุรกิจเรามันมีศักยภาพเติบโตได้ไหม ซึ่งผมยังจำวันที่บริษัทที่ผมดูแลเมี่อสัก 20 ปีที่แล้ว สามารถขายได้ถึงร้อยล้านบาท ผมรู้สึกว่าดีใจมากที่สามารถขายได้ถึงร้อยล้านบาทแล้ว ผมก็ไม่เคยคิดถึงว่าในวันนี้จะขายได้หลายพันล้านบาท พอถามว่ามันเป็นไปได้ไหมจึงตอบได้ว่าเป็นไปได้ทุกอย่าง แต่ก็ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมาเราทำงานหนักและโชคดีที่ธุรกิจโลจิสติกส์เป็นธุรกิจที่อยู่ในกระแส มีการเติบโต เมื่อ 20 ปีที่แล้วเมืองไทยโตมากในการนำเข้าส่งออก ทั้งอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ปิโตรเคมีเติบโต มีท่าเรือแหลมฉบังเกิดขึ้นมาเลยทำให้บริษัทมาถึงจุดนี้ได้ 

JWD ทำธุรกิจอะไรครับ
หลักเลยเราทำธุรกิจโลจิสติกส์ ซึ่งธุรกิจโลจิสติกส์ของเราครอบคลุมทั้งธุรกิจที่เป็นคอปเปอร์เรท ซึ่งเราเชื่อมั่นว่าเราก็เป็นผู้นำของตลาดแช่แข็งและห้องเย็นสำหรับสินค้าอาหาร เรามีห้องเย็นอยู่หลายแห่ง หรือจะเป็นธุรกิจโลจิสติกส์เกี่ยวกับเรื่อง ยานยนต์แล้วเราก็เชื่อมั่นว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักในตลาด ซึ่งเราให้บริการอยู่หลาย Maker ในเมืองไทย รวมถึงบริการนำเข้าส่งออกสินค้าเคมีอันตรายผ่านท่าเรือแหลมฉบัง ปีหนึ่งๆ เกือบ 200,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แล้วเราก็ยังมีธุรกิจอีกหลากหลาย เช่น ธุรกิจขนย้าย ย้ายบ้าน ย้ายสำนักงาน ธุรกิจการจัดเก็บเอกสาร ธุรกิจห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า และก็มี Art Storage เก็บของที่เป็นงานศิลปะ แล้วก็ธุรกิจขนส่งซึ่งเรามีให้บริการตั้งแต่รถ 4 ล้อ รถ 6 ล้อ รถเทรลเลอร์ รถขนส่งรถยนต์ รถแช่แช็ง บริการขนส่งข้ามแดน เรามีที่ตั้งธุรกิจในกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม อินโดนีเซีย  ค่อนข้างครบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทั้งที่ที่เป็นของเราและการร่วมทุน เป็นพาร์ทเนอร์ กับบริษัทในประเทศนั้นๆ 

นอกเหนือจากธุรกิจโลจิสติกส์ ก็ยังมีในส่วนของธุรกิจการลงทุนที่เรามีการสร้างคลังสินค้าให้เช่า แล้วก็เข้าไปถือหุ้นอยู่ในกองเรียลเอสเตทในตลาดหลักทรัพย์ อีกส่วนหนึ่งก็เป็นธุรกิจอาหาร ที่เรานำเข้าส่งออกและเป็นเจ้าของแบรนด์เองธุรกิจอาหารในใต้หวัน ซึ่งเราทำขึ้นเพื่อต้องการให้มีความเชื่อมต่อกันกับธุรกิจห้องเย็นที่เราทำอยู่ และมีอีกหนึ่งธุรกิจที่เราเพิ่งได้รับงานใหม่มาจากท่าเรือแหลมฉบัง นั่นคือการบริหารท่าเรือชายฝั่ง ซึ่งจุดนี้เราเรียกว่าการขนส่งหลายรูปแบบที่มีกาขนส่งทั้งทางเรือ รถไฟ และรถยนต์

สำหรับคำว่าโลจิสติกส์ตอนนี้ยังน่าสนใจต่อไปอีกไหมครับ
ต้องบอกว่าโลจิสติกส์ไม่ตายนะ ถึงแม้จะค้าขายยากลำบากขนาดไหนทุกคนก็ต้องพยายามส่งของไปถึงมือลูกค้าให้ได้ หรือการทำต้นทุนของโลจิสติกส์ทางด้านการเก็บของ การนำเข้า พิธีการต่างๆ ให้ได้ประหยัดที่สุด เพื่อที่จะสามารถแข่งขันได้ ดังนั้นผมจึงมองว่าโลจิสติกส์ยังเป็นกระดูกสันหลังของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น SME หรือรายใหญ่

จากที่ผมติดตามมา JWD มีอะไรเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ เสมอ ทำไมถึงเป็นแบบนั้น แล้วปีนี้จะมีอะไรใหม่ให้เราเห็นบ้างครับ 
อย่างที่บอกโลกปัจจุบันโดน Disrupt ไวมาก ที่เราคิดว่ามันแน่นอนแล้วแต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่แน่นอน ดังนั้นสิ่งที่ทีมบริหารและตัวผมเองทำ ก็คือการตั้งเป้าให้ JWD ว่าเราจะไม่หยุดเดิน ไม่หยุดค้นหาบริการโลจิสติกส์ใหม่ๆ ที่มันมีโอกาสและคนอื่นยังไม่ได้ทำ ตรงนี้เป็นปรัชญาในการทำงานของผมเองด้วยว่า

เราไม่ควรยึดติดภูมิใจแต่กับความสำเร็จในอดีต

เพราะความสำเร็จในอดีตไม่ใช่เครื่องยืนยันว่า

มันจะสามารถสำเร็จได้ในอนาคต

ถึงแม้ว่าตอนนี้เรามีจะผลประกอบการ กำไรที่ดี ผู้ถือหุ้นทุกคนมีความสุขแต่เราก็ยังมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่เข้ามา เพื่อทำให้ธุรกิจของเราเติบโต การเข้าไปลงทุนในอาเซียนผมมองว่าทำให้เราจำกัดความเสี่ยงในแง่ของการเจริญเติบโตของธุรกิจในเมืองไทย เพราะอย่างที่ทราบ เมืองไทยเศรษฐกิจเติบโตปีละ 1-3 เปอร์เซ็น ในขณะที่ภูมิภาคโตในระดับ 6 – 7 เปอร์เซ็น ที่ไหนมีการเจริญเติบโตเราก็จะไปที่นั่นครับ

หลังจากพัฒนาธุรกิจมาจับในเรื่อง B2C มากขึ้นเป็นอย่างไรบ้างครับ 
จากที่เห็นในปัจจุบัน ทุกคนซื้อของออนไลน์ แม้แต่อาหารก็ยังสั่งออนไลน์ ตลาดออนไลน์จึงเติบโตมาก แต่ถ้าลองย้อนไปสมัย 20 ปีที่ แล้วหรือรุ่นพ่อแม่เราต้องหาเช่าตึกแถวสำหรับเก็บสินค้าเพราะบริษัทไม่ใหญ่พอจะ จ้างบริษัทโลจิกติกส์ทำการจัดส่งให้ แต่ปัจจุบันนี้ราคาตึกแถวไม่ได้เหมือนเมื่อก่อน ยุคนี้การเช่าตึกแถวเพื่อเก็บของสต็อกสินค้าแทบจะทำไม่ได้ ดังนั้นเราจึงมี Self-Storage เข้ามาแก้ Pain point ตรงนี้ของ SME และแม่ค้าออนไลน์ ดังนั้นผมจึงมองว่าธุรกิจ B2C จะเติบอีกโตมาก กลุ่มธุรกิจที่เป็นตัวกลางจะค่อยๆ หายไป เพราะเทคโนโลยีทำให้คนขายและคนซื้อเจอกันได้ง่าย เราจึงต้องคิดหาทางว่าเราจะพาตัวเองเข้าไปสู่ช่องว่างตรงนั้นยังไง เราต้องมีบริการอะไรที่จะสนับสนุนการทำธุรกิจของเขาได้ 

ปีนี้ JWD จะมีการเติบโตอย่างไรครับ 
ปีนี้เราตั้งเป้าจะเติบโตในแง่ของรายได้ให้ได้ 2 ดิจิต ซึ่งเราก็ทำได้มาหลายปี ปีที่แล้วเราก็ทำได้ประมาณเกือบ 11 เปอร์เซ็นจากยอดขาย ซึ่งปีนี้เราก็ยังต้องตั้งเป้าที่จะไม่ให้เติบโตน้อยไปกว่าปีที่แล้ว 

D:\MyMintLanla\Downloads\3D6A1133.jpg

รู้จักบริษัทไปแล้วขอรู้จักคุณพีร์บ้างครับว่า คิดว่าตัวเองเป็นซีอีโอแบบไหนครับ
ก่อนเข้าตลาดผมเป็นซีอีโอที่คิดเอง ทำอะไรเองคนเดียว วางกลยุทธ์เองแล้วก็คิดว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่พอหลังจากเข้าตลาดมาจนปีนี้เข้าปีที่ 5 ทำให้ผมมองว่าผมปรับเปลี่ยนตัวเองไปค่อนข้างเยอะ ผมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นมากขึ้น ทำอะไรช้าลงกว่าก่อนที่จะเข้าตลาด สมัยก่อนนั้นผมทำทุกอย่างแบบเร็วมาก คิดแล้วต้องทำเลย ซึ่งมันก็มีบทพิสูจน์หลายอย่างว่าสิ่งที่ผมคิดไม่ได้ถูกต้องเสมอไป ถ้าผมช้าลงอีกสักนิดก็อาจจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัทมาก ถ้าถามในตัวผมวันนี้ผมก็พยายามจะเป็นซีอีโอที่รู้ทุกอย่าง แต่จะไม่ทำเองทุกอย่าง 

การเป็นซีอีโอนอกตลาดและในตลาดนี่ต่างกันมากไหมครับ แล้วถ้าเลือกได้จะยังเข้าตลาดเหมือนเดิมไหมครับ 
มันต่างกันมากเลยนะ ซีอีโอบริษัทนอกตลาดกับซีอีโอบริษัทในตลาด ซีอีโอนอกตลาดเราเหมือนเป็นเจ้านายตัวเอง แต่ซีอีโอในตลาดเรามีเจ้านายเพียบเลย พูดง่ายๆ คือมันมีความรับผิดชอบจากความคาดหวังของทุกคนอยู่บนบ่าเรา เราต้องมีการบริหารปกครองที่เป็นธรรม การบริหารบริษัทอย่างโปร่งใส เราต้องมีการเจริญเติบโตของรายได้และกำไรอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน แล้ว JWD อยู่ในลิสต์หุ้นยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนนี้สามารถมองไปถึงเรื่อง สังคม สิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัท และถ้าให้ผมเลือก ผมก็เลือกที่จะเข้าตลาดเหมือนเดิมเพราะโลจิสติกส์ต้องใช้เงินทุน ต้องขยาย ต้องมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ ไม่อย่างนั้นจะแข่งขันลำบาก ดังนั้นผมจะไม่หยุดนิ่ง มีปัญหาต้องแก้ จะไม่มีคำว่าท้อหรือถอย ผมเชื่อว่าความแน่นอนคือความไม่แน่นอน สิ่งที่เราคิดว่าสำเร็จในอดีต มันไม่ได้เป็นบทพิสูจน์หนึ่งของความสำเร็จในอนาคตที่คุณจะมี 

คำว่าซีอีโอในความหมายของคุณพี มีหน้าที่อะไรครับ 
สำหรับผมซีอีโอต้องรู้ทุกอย่าง แต่อาจจะไม่ได้ทำเองทุกอย่าง และซีอีโอที่ดีผมว่าต้องเติบโตมาจากด้านล่าง ตั้งแต่ส่วน Operation ต้องเรียนรู้จากตรงนั้น แล้วเมื่อเราเป็นซีอีโอ เราก็จะสามารถเข้าใจภาพว่าลูกน้องที่เจอปัญหาอยู่หรือต้องการคำชี้แนะจากเราจริงๆ เขาต้องการอะไร 

วิธีบริหารงานของคุณพีที่มีทีมงานมากกว่า 1,000 คน มีที่ตั้งธุรกิจในหลายประเทศ ประเภทธุรกิจหลายแขนงอย่างนี้มีการบริหารงานอย่างไรครับ 
สิ่งที่ผมใช้คือ เราจะมีการประชุมกันทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง จะเป็นการประชุมคณะกรรมการบริหาร ลูกน้องผมพวก SVP ทั้งหลายก็จะเข้ามารายงานความคืบหน้าของตัวงานที่เราทำกันในแต่ละเดือน ทุกไตรมาส ผมจะมีการจัดทำการรีวิวไตรมาส โดยการเอาแผนที่เราตั้งกันไว้ต้นปีมารีวิวกันดูว่ามันได้ตามแผนหรือต้องปรับแผนอย่างไร และทุกไตรมาสหรืออาจะ 2 ไตรมาส ผมจะจัด ซีอีโอ ทอร์ค เนื่องจากเรามีหลายส่วนงานทั้งในและต่างประเทศที่อยู่ในกลุ่ม JWD ผมอยากให้ทุกคนได้รับข้อความจากผมที่เป็นข้อความเดียวกัน เนื่องจากเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราต้องสื่อสารทั้ง Internal communication และ external communication ให้ดี ผมต้องการให้ทุกคนในบริษัทหายใจเป็นจังหวะเดียวกัน เพื่อให้เข้าใจว่าบริษัทจะเดินไปอย่างไรและสถานะปัจจุบันของบริษัทเป็นอย่างไร มันยังดีอยู่หรือกำลังมีปัญหา แล้วถ้าหากกำลังมีปัญหาทุกคนก็ต้องร่วมมือกันฝ่าฟันอุปสรรค์ไปให้ได้ 

ที่นี่เรามีทีมสื่อสารองค์กรที่มีช่องทางและข้อมูลในการสื่อสารเยอะมาก ไม่ว่าจะทั้ง อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก ที่ใช้สื่อสารให้กับพนักงาน รวมถึงการมีจดหมายข่าวส่งให้พนักงานทางอีเมล รวมถึงมีบอร์ดประชาสัมพันธ์ เพื่อใหห้ทุกคนได้รับทราบความเคลื่อนไหวของบริษัท รวมถึงเวลาผมไปทำอะไรที่ไหนทีมประชาสัมพันธ์ก็จะส่งข้อมูลให้นักลงทุนและพนักงานทราบ

คุณพีให้ความสำคัญขนาดไหนกับการพัฒนาทรัพยากรบุคคลครับ 
ผมว่าเป็นอันดับ 1 นะ ผมมี VP ที่เป็นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่ช่วยดูแลอยู่ แล้วก็พยายามพัฒนาคน ซึ่งเรื่องนี้ผมทำมา 20 ปีแล้วตั้งแต่เริ่มทำงานมาก็พยายามพัฒนาทรัพยากรบุคคลของเราให้เก่งทัดเทียมกับบริษัทโลจิสติกส์ชั้นนำ ไม่ว่าจะบุคคลากรทั้งในและต่างประเทศ ทำให้มีพนักงานเติบโตมาจากสาย Operation มาเป็น General Manager ก็เยอะ เราลงทุนด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคลค่อนข้างมาก

ในยุคดิจิตอลเข้ามามีส่วนสำคัญขนาดนี้ มีการ Reskill และ Up skill พนักงานอย่างไรบ้างครับ
ตั้งแต่มีดิจิทัลเข้ามา ในการประชุมก็ไม่ใช้กระดาษแล้ว เราใช้ไอแพดในการประชุม เพื่อพยายามให้ทุกคนเคยชินกับการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เราพยายามเน้นในเรื่องนี้แล้วเราก็มีบริษัทไอทีในเครือที่ทำในส่วน Business Intelligent ที่ทำการวิเคราะห์ธุรกิจในแต่ละเดือน ก็พยายามใช้ไอที เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเยอะ 

อยากให้คุณพีฝากถึงนักธุรกิจ SME ที่อยากเติบโตขึ้นมาได้แบบ JWD ในเรื่องการทำธุรกิจหน่อยครับ  
หากจะโฟกัสเรื่องการพัฒนาบริษัท สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยคือการพัฒนาบุคคลากร เพราะบุคคลากรสามารถช่วยกันพัฒนาบริษัทให้เจริญเติบโตได้ และผมก็ขอเน้นยำว่าซีอีโอไม่ใช่บุคคลคนเดียว ที่จะสามารถนำพาธุรกิจไปข้างหน้าได้ แต่เป็นพนักงานทุกท่าน ทีมงานทุกคน เป็นฟันเฟืองที่ช่วยผลักดันบริษัท ไม่ว่าบริษัทนั้นจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็ควรจะต้องพยายามเฟ้นหาและพัฒนาบุคคลากรของเราที่มีอยู่ให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาองค์กรให้เจริญเติบโตได้ครับ

จากการพูดคุยในวันนี้กับคุณชวนินทร์ สิ่งสำคัญที่ผมว่าทุกธุรกิจ ทุกกิจการ สามารถนำไปใช้ได้แน่นอนนั่นคือเรื่องการเติบโตจากมองหาโอกาสไปข้างหน้าโดยไม่ปิดกั้นการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากกว่าการยึดติดกับความสำเร็จในอดีตและการให้ความสำคัญกับพนักงานทุกๆ ตำแหน่ง ที่ทุกคนจะสามารถทราบความเป็นไปต่าง ของทั้งผู้บริหารและบริษัท เพื่อให้เมื่อเจอปัญหาพนักงานทุกคนจะได้ร่วมมือฝ่าฟันไปด้วยกัน และยินดีกับทุกความสำเร็จไปพร้อมๆ กันครับ  

รายการอายุน้อยร้อยล้าน แคมเปญพิเศษ Coffee with CEO ดูสดพร้อมกันได้ที่

Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน 
และช่อง Workpoint 23
ทุกเช้าวันเสาร์ เวลา 09.00 น.
ติดตามบทความ CEO Interview ได้ที่
Website : www.ryounoi100lan.com
Facebook : อายุน้อยร้อยล้าน
ทุกเช้าวันจันทร์ เวลา 06.00 น.