เลิกกลัวเรื่องภาษี รู้จักข้อดีเมื่อทุกอย่างอยู่ในระบบ

572

หลายคนแค่ได้ยินคำว่า ภาษี หรือ สรรพากร ก็จะรู้สึกกลัวมาก ไม่อยากให้ธุรกิจต้องเสียภาษี หรือเข้าระบบ จึงทำให้ธุรกิจไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่ ท้ายปี 2019 จึงขอร่วมส่งมอบความรู้ให้กับ SMEs ไทย ในเรื่องของการเข้าระบบภาษีที่ถูกต้อง ว่ามีผลดีต่อธุรกิจอย่างไร และจะสามารถขยายโอกาสให้ธุรกิจสามารถเติบโตมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางในการทำธุรกิจในปี 2020

กรมสรรพากรคืออะไร

กรมสรรพากร คือหน่วยงานระดับกรม สังกัดกระทรวงการคลัง กรมสรรพากรทำหน้าที่จัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากร ได้แก่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา, ภาษีเงินได้นิติบุคคล, ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ภาษีธุรกิจเฉพาะ และ อากรแสตมป์ รวมถึงจัดเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีมรดก และมีหน้าที่เก็บภาษีจากฐานรายได้ฐานบริโภคภายในประเทศ เพื่อเป็นรายได้ให้รัฐบาล นำมาใช้พัฒนาประเทศ

ภาษีมีอะไรบ้าง

1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มีลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยปกติจัดเก็บเป็นรายปี ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเองตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนดภายในเดือนมกราคมถึงมีนาคมของปีถัดไป สำหรับผู้มีเงินได้บางกรณีกฎหมายยังกำหนดให้ยื่นแบบฯ เสียภาษีตอนครึ่งปี สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรก เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่ต้องชำระได้บางกรณี กฎหมายกำหนดให้ ผู้จ่ายทำหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากเงินได้ที่จ่ายบางส่วน เพื่อให้มีการทยอยชำระภาษีขณะที่มีเงินได้เกิดขึ้นอีกด้วย

2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากนิติบุคคลที่มีหน้าที่ต้องจ่ายตามกฎหมาย จะเก็บกับคนทำธุรกิจที่จดทะเบียนธุรกิจในรูปแบบของบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วน โดยแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีสองแบบ ได้แก่ แบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.50 ภาษีสำหรับรอบบัญชีที่ต้องยื่นภายใน 150 วันหลังจากวันที่ปิดระบบบัญชี และแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.51 ที่ต้องยื่นภายในสองเดือนหลังรอบบัญชีภาษีครึ่งปี

3. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีที่ถูกหักไว้ล่วงหน้า หมายความว่า เราสามารถขอคืนภาษีประเภทนี้ได้ โดยกฎหมายกำหนดให้คนที่จ่ายเงินให้กับกิจการของเรา หรือคู่ค้าของเราที่ซื้อของจากเรามีหน้าที่หักภาษีไว้เมื่อมีการจ่าย ซึ่งเป็นไปตามประเภทของเงินได้ และตามอัตราภาษีที่กำหนด

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มนี้หลายคนจะรู้สึกว่ามันใกล้ตัว เพราะการที่เราซื้อของกินของใช้เราต้องจ่ายภาษีประเภทนี้โดยอัตโนมัติ สำหรับคนทำธุรกิจ ภาษีนี้เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นจากคนทำธุรกิจ หรือให้บริการประเภทต่าง ๆ โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม คือผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ฯลฯ ซึ่งต้องมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทขึ้นไป ไม่ว่ากิจการนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคล

5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ สำหรับภาษีประเภทนี้จะถูกจัดเก็บในธุรกิจที่เฉพาะเจาะจงตามชื่อ ได้แก่ กิจการธนาคารพาณิชย์ โรงรับจำนำ อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ใครที่ไม่ได้ทำกิจการที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีประเภทนี้ก็สามารถข้ามไปได้

6. อากรแสตมป์ สำหรับอากรแสตมป์นั้นดูเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่มาก แต่ก็จัดเป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอากรแสตมป์ โดยจะใช้การขีดฆ่าแสดงถึงการใช้แสตมป์ดังกล่าว รายละเอียดสามารถเข้าไปอ่านแบบเจาะลึกได้ที่เว็บของสรรพากร

อย่างไรก็ตามการทำธุรกิจที่ไม่เหมือนกันดูผ่าน ๆ เหมือนจะต้องเสียภาษีคล้าย ๆ กัน แต่ในความจริงมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยภาษีที่เก็บกับธุรกิจที่ขายสินค้าส่วนใหญ่จะต้องเสียภาษี 4 ประเภท ยกเว้นภาษีธุรกิจจำเพาะ

แต่ก็มีธุรกิจขายสินค้าประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจจำเพาะ สำหรับกิจการที่ขายบริการเป็นหลักที่ต้องเสียภาษีธุรกิจจำเพาะ ได้แก่ การธนาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ หรือกฎหมายเฉพาะการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน การรับประกันชีวิต ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต การรับจำนำ ตามกฎหมายว่าด้วยโรงรับจำนำ การประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ และในอนาคตอาจหมายถึง กิจการ Start Up อย่าง ฟินเทค เป็นต้น

โครงสร้างของภาษี

1.ผู้เสียภาษี ซึ่งภาษีแต่ละประเภทก็จะกำหนดผู้เสียภาษีแตกต่างกันออกไป เช่น ผู้ที่มีรายได้ ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้

2.ฐานภาษี เป็นตัวกำหนดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เขาต้องเสียภาษี เช่น ภาษีเงินได้ ฐานภาษีก็คือ รายได้

3.อัตราภาษี เป็นส่วนสำคัญมาก เพราะจะเสียภาษีเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษี ซึ่งมีหลายแบบ

  • อัตราก้าวหน้า
  • อัตราถดถอย
  • อัตราคงที่
  • เหมาจ่าย

4.วิธีการเสียภาษี

5.การระงับข้อพิพาท

6.การบังคับคดี

ประโยชน์ของการเสียภาษี

ภาษีที่ได้มาจะนำไปพัฒนาประเทศ ถ้าประเทศไทยเปรียบเหมือนตัวบุคคล ภาษีก็เป็นรายได้อย่างหนึ่งที่เข้าสู่ประเทศ ซึ่งแม้ว่ารายได้หลักของประเทศไทยจะมาจากการส่งออกนำเข้าสินค้า บริการ และการท่องเที่ยว แต่ภาษีก็เป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อน และเป็นน้ำมันหล่อลื่นให้กับระบบเศรษฐกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี ภาษีจึงมีความสำคัญกับประเทศอย่างมาก

ขาดทุนต้องเสียภาษีไหม

ทำธุรกิจให้อยู่รอดปลอดภัยจนเห็นผลกำไรก็ว่ายากแล้ว แต่ขาดทุนจนปวดหัวแล้วยังต้องมาเสียภาษีอีก ตามที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการคำนวณภาษีคิดจากกำไรของธุรกิจ ในเมื่อกิจการขาดทุน แล้วทำไมต้องเสียภาษี เหตุผลคือ ในกรณีที่เป็นธุรกิจบริการจะถูกลูกค้าหักภาษี ณ ที่จ่าย พอถึงปลายปี หากไม่มีการทำเรื่องขอคืนภาษี แบบนี้ก็เท่ากับว่าเป็นการเสียภาษีไปโดยปริยาย และอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่ธุรกิจมีการขาดทุนทางบัญชี ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจนั้นไม่ต้องเสียภาษี เพราะกำไรสุทธิทางภาษี ไม่ใช่กำไรสุทธิทางบัญชี แต่ถ้าธุรกิจมีการขาดทุนทางภาษีถึงจะแปลว่า ไม่ต้องเสียภาษีนั่นเอง

ทางตรง คือภาษีที่เรียกเก็บโดยตรง หมายถึงภาษีเงินได้นั่นเอง จะต้องเสียให้กรมสรรพากร เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีทางอ้อม เป็นภาษีที่สามารถผลักภาระความรับผิดชอบไปให้ผู้บริโภคได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์

เพราะเราเชื่อว่า ความกลัว เกิดการความไม่รู้ และไม่เข้าใจในสิ่งนั้น ๆ หากเราทำความเข้าใจ และรู้จักปรับตัว ทุกคนก็จะสามารถขยายโอกาสในการทำธุรกิจให้เติบโตได้อย่างแน่นอน พวกเราหวังว่า ความรู้ที่เราได้ส่งมอบให้กับทุกคนในวันนี้ จะเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้อง SMEs ในช่วงสิ้นปี และในช่วงการยื่นภาษีประจำปีที่กำลังใกล้เข้ามาถึง เพื่อให้คุณได้สามารถทำธุรกิจได้อย่างมั่นใจ และก้าวต่อไปได้อย่างแข็งแรง