วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้คุณมีวินัยเพื่อพาตัวเองบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้มากขึ้น อาจไม่ใช่แค่การพยายามหรือมุ่งมั่นให้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่การลองทำบางอย่างให้ “น้อยลง” หรือ “กำจัด” สิ่งที่ไม่ดีในตัวเองออกไป โดยเฉพาะ “4 นิสัย” ต่อไปนี้ที่อาจกำลังขัดขวางความมีวินัยของคุณอยู่
📌นิสัยที่ 1 ใช้การวิจารณ์ตัวเองเป็นแรงจูงใจ
หลายคนอาจเผลอตัดสินและวิจารณ์ตัวเอง เพียงเพราะรู้สึกว่าจะมันจะทำให้คุณมีแรงขับเคลื่อนให้ตัวเองมีวินัย และทำให้ดีขึ้น เช่น บอกตัวเองว่ามันเป็นเรื่องงี่เง่าที่รู้สึกประหม่าเมื่อต้องนำเสนองาน, คิดเห็นกับตัวเองว่าขี้เกียจแค่ไหน เมื่อพบว่าตัวเองผัดวันประกันพรุ่ง, ตำหนิตัวเองที่ฟุ้งซ่านและไม่มีสมาธิทุกครั้งที่งานไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น
แม้ในช่วงต้นจะทำให้คุณเห็นถึงปัญหาในตัวเองจริง ๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะช่วยให้คุณมีวินัยและประสบความสำเร็จได้มากขึ้น เพราะในท้ายที่สุด ไม่ว่าผลลัพธ์ของการวิจารณ์ตัวเองจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่จะรู้สึกแน่ ๆ คือ อับอาย วิตกกังวล และลดทอนคุณค่าในตัวเอง ซึ่งทั้งหมดนี้ นับว่าเป็นปัจจัยหลัก ๆ ที่ขัดขวางความสามารถของคุณในการมีระเบียบวินัยมากขึ้น
ในทางกลับกันการมีวินัยในตัวเองมักเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคุณปฏิบัติต่อตัวเองด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะต้องการมีวินัยด้านใด ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จในการทำงาน การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย คุณควรให้เวลาตัวเองในการพยายามฝึกฝน พยายามเข้าใจตัวเองมากว่าตัดสินตัวเองและดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับระดับวินัยของคุณ
📌นิสัยที่ 2 รับมือหรือต่อต้านกับสิ่งที่รบกวน
เมื่อพบว่าตัวเองไม่มีระเบียบวินัยเพียงพอในการไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ บางคนใช้การเผชิญปัญหาเป็นวิธีหลักในการจัดการกับสิ่งที่มารบกวนการมีวินัยของตัวเอง ราวกับว่าสิ่งรบกวนเหล่านั้นเป็นเรื่องที่หลักเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าบางอย่างเลี่ยงไม่ได้และต้องถูกจัดการ แต่ก็มีสิ่งรบกวนอีกหลายอย่างที่คุณสามารถหลีกเลี่ยงได้ตั้งแต่แรก
ตัวอย่างเช่น งานที่คุณต้องทำต้องใช้อินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ซึ่งเมื่อขึ้นชื่อว่ามีอินเทอร์เน็ตอยู่แค่ปลายนิ้ว แน่นอนว่ามันง่ายมากที่จะถูกเบี่ยงเบนความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโทรศัพท์หรือคอมฯ ของตัวเองที่มีแอปฯ โปรด หรือเว็บโปรด ไม่ว่าจะฟังเพลง ดูหนัง หรือเล่นเกม ในขณะเดียวกับบางครั้งแค่เห็นโทรศัพท์วางอยู่ข้าง ๆ ก็มักทำให้เสียสมาธิจากงานที่ทำอยู่แล้ว
ถ้าคุณรู้ว่าตัวเองไม่ได้มีแรงใจมากพอที่จะรับมือหรือต่อต้านการล่อลวงจากสิ่งรบกวน สิ่งที่ควรทำคือ ตัดมันออกเพื่อไม่ให้ไขว้เขวไปตั้งแต่แรก และพยายามโฟกัสไปที่สิ่งที่จะทำให้งานสำเร็จ เช่น ถ้าคุณยังต้องทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตหรือมือถือ แม้จะเป็นสิ่งที่ทำให้เสียสมาธิ คุณก็แค่ต้องปิดทุกแอปฯ หรือเว็บที่ทำให้ไขว้เขว และโฟกัสไปที่แอปฯ หรือเว็บสำหรับการทำงานเท่านั้น
📌นิสัยที่ 3 เพิกเฉยต่อความอยากรู้อยากเห็นหรือความสนใจของตัวเอง
ลองนึกภาพเด็กน้อยคนหนึ่งที่มีความสนใจอะไรบางอย่าง สงสัย และอยากรู้อยากเห็นในบางเรื่อง แต่หลายครั้งกลับถูกบอกว่าความสนใจของพวกเขาเป็นเรื่องงี่เง่า ไร้สาระ หรือไม่สำคัญ รู้หรือไม่? ว่าผลกระทบที่ตามมาไม่ใช่แค่ทำให้เด็กคนนั้นล้มเลิกความสนใจแค่ในตอนนั้น แต่มันคือผลกระทบตลอดชีวิตที่มีต่อความสามารถของพวกเขาในการทำตามสิ่งที่ตัวเองต้องการจริง ๆ
หากคุณลองสังเกตดี ๆ คนที่ดูมีวินัยในตัวเองสูง มักเป็นคนที่มีสมาธิ และสามารถทำสิ่งที่พวกเขาตั้งใจไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ ที่สำคัญพวกเขามักสนุกไปกับสิ่งที่กำลังอยู่ เพราะนั่นคือเรื่องที่สนใจและเต็มใจที่จะทำจริง ๆ
แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่พยายามจะมีระเบียบวินัยมากขึ้น หากลองสังเกตคุณจะพบว่าพวกเขาเลือกไปในทางที่ผิดหรือเป็นทางที่เขาไม่ได้ต้องการจริง ๆ เป็นเรื่องยากมากที่จะช่วยรักษาวินัย นิสัย หรือแรงขับเคลื่อนในการทำงานหากคุณไม่ได้เต็มใจที่จะทำจริง ๆ ไม่ว่าใครจะพูดอย่างไรกับคุณ จะกีดกันไม่ให้ทำตามความสนใจ หรือถูกบอกให้ทำตามสิ่งที่คนอื่นคิดว่าดีกว่า จงเคารพตัวเองมากกว่าให้ค่าคำพูดของคนอื่น อย่าละเลยความสนใจหรือความต้องการของตัวเอง เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตจะเป็นไปในทิศทางไหนก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองไม่ใช่คนอื่น
📌นิสัยที่ 4 คิดมากเกินไปเกี่ยวกับเป้าหมายของตัวเอง
การตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดี แต่การคิดมากเกินไปเกี่ยวกับเป้าหมายมักส่งผลเสีย! เช่น การเล่นกีตาร์ให้เป็น คือเป้าหมายของคุณ คำถามต่อมาคือ แล้วควรใช้เวลาเรียนเท่าไรถึงจะเล่นเป็นในระดับที่ต้องการ ถ้าคุณเป็นมือใหม่เพิ่งหัดเล่น แทนที่คุณจะตั้งใจในการฝึก กลายเป็นว่าคุณรู้สึกแย่กับการขาดทักษะทุกครั้งที่ฝึก จนทำให้ท้อแท้และล้มเลิกไป หรือเป้าหมายคือการลดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม แทนที่จะตั้งใจทำ กลับมัวแต่คิดว่าต้องออกกำลังกายหนักแค่ไหน ต้องลดอาหารเยอะขนาดไหน ต้องใช้เวลานานแค่ไหน กว่าจะลดได้ ก็อาจทำให้รู้สึกท้อได้เช่นกัน
ดังนั้น หลักการที่จะทำให้คุณมีวินัยมากขึ้น ก็คือ ให้ตั้งเป้าหมายไว้แล้วลืมมันไป เพราะเมื่อคุณตั้งเป้าหมายแล้ว ความสนใจส่วนใหญ่ควรอยู่ที่การกระทำเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่จะนำไปสู่เป้าหมาย ไม่ใช่การคิดวนไปวนมาเกี่ยวกับเป้าหมายที่ต้องการอย่างเดียว
ผู้ที่มีวินัยในตัวเองอย่างสม่ำเสมอ มักจะละสายตาจากรางวัล หรือเป้าหมายของพวกเขา แต่จะตั้งใจและให้ความสำคัญกับกิจวัตรเล็ก ๆ น้อย รวมถึงชัยชนะเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งหากทำสำเร็จอย่างสม่ำเสมอ ก็จะนำไปสู่เป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการได้
ที่มา : https://bit.ly/3CI7Fw3