มีทีมดี = บริษัทเติบโต 21 วิธีสร้างแรงกระตุ้นให้ทีมเดินหน้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

141

บริษัทที่เติบโต ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่บริษัทที่มีผู้นำที่ดี มีความสามารถ แต่เป็นบริษัทที่มี “ทีม” ที่ดีและมีประสิทธิภาพต่างหาก ดังนั้น ในฐานะผู้นำของบริษัทคุณต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและพัฒนาทีมงานของคุณ ต่อไปนี้คือ 21 วิธีในการสร้างแรงกระตุ้นให้ทีมเดินหน้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

1. ฝึกฝนความถูกต้องที่แท้จริง ผู้นำบางคนชอบใช้ความถูกต้องเพื่อเป็นข้ออ้างที่จะพูดตรง ๆ กับทีม ซึ่งความถูกต้องที่แท้จริง ไม่ใช่แค่พูดตรง ๆ แต่มันคือความจริงใจที่คุณมีต่อทีม ดังนั้น จงเป็นผู้นำจากใจ และให้ผู้อื่นเห็นว่าคุณทำหน้าที่ด้วยความตั้งใจและซื่อสัตย์

2. ยอมรับในจุดอ่อนหรือเรื่องที่ตัวเองไม่เก่ง พร้อมกับมอบหมายงานส่วนนี้ให้คนเก่งในทีมทำ เพื่อแสดงให้ทีมเห็นถึงความมั่นใจ ของคุณ การรู้จักตัวเอง และความเป็นผู้นำ

3. เลี่ยงการใช้ถ้อยคำหรือการกระทำที่อาจทำให้คนในทีมรู้สึกอับอายต่อหน้าคนอื่นหรือในที่สาธารณะ หากจำเป็นต้องตักเตือน ก็ควรเรียกไปคุยเป็นการส่วนตัวที่มีแค่สองคน

4. ไม่ทำลายความมั่นใจของใครคนหนึ่งด้วยคำตำหนิ หรือกล่าวโทษ ผู้นำที่แท้จริงจะไม่ตำหนิ แต่จะให้โอกาสและสนับสนุนพวกเขาให้เริ่มต้นใหม่ เรียนรู้จากปัญหา และแก้ไขปัญหานั้นให้ดีขึ้น

5. ฟังคนอื่นให้มาก ค้นหาว่าผู้คนต้องการอะไร เพราะถึงคุณจะเป็นผู้นำ มีตำแหน่งใหญ่ที่สุดในบริษัท แต่คุณไม่สามารถรู้ได้ทั้งหมด ดังนั้น จงใช้เวลาฟังแนวคิด และข้อเสนอแนะของผู้อื่น เพื่อให้คุณเข้าใจทีมมากขึ้นว่าเขาต้องการอะไรหรือคุณจะช่วยพวกเขาอย่างไรได้บ้าง

6. เน้นสร้างทักษะ อย่าสร้างหุ่นยนต์ ส่งเสริมการทำงานของทีมให้เป็นไปตามระบบระเบียบ ในทีมประกอบไปด้วยทักษะและความสามารถที่หลากหลายแต่ทุกทักษะเสริมการทำงานของกันและกัน

7. คุณไม่จำเป็นต้องเป็นคนชอบการสังสรรค์หรือมีเสน่ห์น่าดึงดูด แค่ทำตัวให้น่ารัก ทุกคนเข้าถึงง่าย ไม่ถือตัว สละเวลามาพูดคุยและฟังคนอื่นบ้างก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นคนในทีมของคุณได้

8. เก็บคำพูดของคุณไว้ หากคุณไม่สามารถทำได้อย่างที่พูด เพราะแทนที่จะสร้างแรงกระตุ้น แต่มันจะกลายเป็นเพิ่มความคาดหวังโดยไม่จำเป็น ถ้าคุณอยากให้ทีมเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ คุณต้องทำให้พวกเขารู้สึกว่าสามารถพึ่งพาคุณได้ แล้วพวกเขาจะเดินหน้าไปข้างหน้าเพื่อคุณ เพราะไม่มีใครชอบทำงานให้คนที่เอาแต่พูด แต่ทำไม่ได้

9. แสดงความรับผิดชอบ แน่นอนว่าไม่มีใครชอบที่จะตัดสินใจเรื่องยาก ๆ โดยเฉพาะหากมันเป็นเรื่องสำคัญ แต่หากคุณสามารถทำได้ รับผิดชอบต่อการตัดสินใจแม้มันจะยากลำบาก ทีมของคุณจะมีแนวโน้มรักและเคารพคุณมากขึ้น เนื่องจากเห็นถึงความตั้งใจของคุณ

10. พัฒนาทีมของคุณ สร้างทักษะ และความมั่นใจตามความสามารถของพวกเขา รวมถึงสนับสนุนและให้ในสิ่งที่จะช่วยให้พวกเขาพัฒนาขึ้น เป็นโอกาสในอนาคต และการเติบโตของชีวิตพวกเขาในอนาคต

11. แบ่งปันเรื่องราวของทั้งคุณและของบริษัทที่คุณกำลังเผชิญอยู่ ผู้นำบางคนกลัวที่จะแบ่งปันเรื่องราวของบริษัทให้ทีมงานรู้ เพราะคิดว่ามันทำให้พวกเขาดูอ่อนแอ แต่ในความจริงผู้คนต่างก็อยากรู้ว่าพวกเขาทำงานให้ใคร ต้องการรู้ว่าอะไรเป็นแรงกระตุ้นในการทำงาน ดังนั้น หากกำลังเผชิญการตัดสินใจยาก ๆ คุณสามารถเปิดใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ มันไม่ได้ทำให้ใครมองคุณไม่ดี แต่มันกลับสร้างความมั่นใจให้กับพวกเขามากขึ้น

12. มองเห็นความดีของทีมของคุณ ผู้นำบางคนไม่เคยมองหาด้านดี ๆ ของลูกน้อง ส่วนใหญ่จะมองหาข้อผิดพลาด แล้วนำมาตำหนิ การทำแบบนี้มีแต่จะสร้างรอยร้าวกับลูกน้องมากกว่า พยายามค้นหาสิ่งดี ๆ ในตัวของทีมงานทุกคน แล้วจะทำให้คุณรู้จักทุกคนในทีมมากขึ้น และมันจะทำให้คุณเห็นอกเห็นใจคนอื่นมากขึ้น

13. เป็นเจ้าของและรับผิดชอบความผิดของตัวเอง ไม่โยนให้เป็นความผิดของทีม ไม่มีใครชอบคนหลีกเลี่ยงปัญหา หรือโยนปัญหาให้คนอื่น โดยเฉพาะหากคน ๆ นั้น คือ “เจ้านาย”

14. ช่วยให้ทีมของคุณได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของพวกเขา ไม่ใช่สร้างแรงกดดัน แน่นอนว่าความผิดพลาดมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะวางแผนมาดีแล้วก็ตาม หากพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่รู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาและการเรียนรู้ ความภักดี และความพึงพอใจของพวกเขาที่มีต่อคุณจะสูงขึ้นอย่างทวีคุณ ดังนั้น ให้คุณมองความผิดพลาดเป็นช่วงเวลาแห่งการสอน มองเห็นโอกาสในการเรียนรู้จากความล้มเหลว และทำให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองจากสิ่งนี้

15. พร้อมสนับสนุนทีมของคุณเสมอ แน่นอนว่าทีมงานของคุณแต่ละคนมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการพัฒนาตัวเองก็จริง แต่ในฐานะผู้นำ คุณก็ต้องพร้อมสนับสนุนพวกเขาตามความต้องการของแต่ละคนที่ต้องการจากคุณ ปล่อยให้พวกเขาคิดหาทางของตัวเอง ส่วนหน้าที่ของคุณนอกจากส่งเสริมสิ่งที่พวกเขาทำ ก็คือ ค้นหาวิธีที่ถูกต้องในการดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดจากพวกเขา

16. ยอมรับความอยากรู้และการตั้งข้อสงสัย นี่ไม่ใช่การไปยุ่งเรื่องของคนอื่น แต่หมายถึงเมื่อไรที่คุณต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องพิสูจน์หาความจริง คุณจำเป็นต้องตั้งข้อสงสัย ถ้ามีคนทำผิดให้ถามว่าทำไม หากมีใครล้มเลิกกะทันหันให้สอบสวน หากมีคนไม่เข้าใจสิ่งที่คุณทำ ให้ลองคิดว่าคุณจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อทำให้พวกเขาเข้าใจคุณยิ่งขึ้น

17. อย่าตัดสินคนอื่น ให้พื้นที่แก่ทีมของคุณในการสร้างสรรค์และเป็นตัวของตัวเอง อย่าทำลายความคิดหรือแนวทางที่พวกเขาเลือก เพื่อให้พวกเขาทำหน้าที่เป็นโอกาสในการเรียนรู้และการทดลองทางความคิดแทนคุณ

18. ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าผลงานในอดีตของทีมงานจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ ทุกคนต้องได้รับโอกาสใหม่ในสถานการณ์ใหม่ ๆ เสมอ

19. รักษาความยืดหยุ่น การวางแผนและรู้ว่าบริษัทต้องไปในทิศทางไหนถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็อย่าเคร่งครัดจนลืมความยืดหยุ่น ปรับให้เหมาะสมเพื่อให้ทีมปรับตัวและลื่นไหลไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ รวมถึงให้คุณและทีมสามารถเดินหน้าเผชิญความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

20. ให้ทีมงานได้มีส่วนร่วมกับคุณ เพราะผู้คนส่วนใหญ่ชอบที่จะรู้สึกว่าตัวเองมีส่วนร่วม พวกเขาต้องการรู้ว่าคุณไว้วางใจพวกเขามากพอที่จะขอความช่วยเหลือและรับฟังความคิดเห็นของเขาหรือไม่ ซึ่งในฐานะผู้นำของบริษัท สิ่งนี้จะทำให้คุณมีโอกาสพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับทีมของคุณ

21. ขอความคิดเห็นหรือคำติชมจากทีมบ้าง เพราะถึงแม้คุณจะเป็นผู้นำ ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณรู้และทำได้ดีทุกอย่าง กลับกันหากคุณขอความคิดเห็นจากลูกทีม นอกจากคุณจะรู้ว่าต้องแก้ไขหรือพัฒนาอะไรบ้าง ยังทำให้คุณมีประสิทธิภาพในความเป็นผู้นำยิ่งขึ้น และคุณยังเข้าใจความคิดของลูกทีมคุณมากขึ้นด้วย

ที่มา : https://shorturl.asia/m8VUW