วางแผนการเงินฝ่าวิกฤต สู้วิกฤต Covid -19 กับ หนุ่ม The Money Coach

730

เพราะปี 2020 SMEs ไทยต้องเจอวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษ Covid-19 จนหลายธุรกิจต้องปิดตัวลง หลายคนต้องเป็นหนี้เป็นสิน อายุน้อยร้อยล้านยังคงยืนหยัดเคียงข้าง SMEs ไทย พามาพบกับแคมเปญพิเศษฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโควิด-19 ที่จะช่วยให้ทุกคนก้าวผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปพร้อมกัน และในตอนนี้ ใครที่กำลังมีปัญหาหนี้สิน หาทางออกจากปัญหาทางการเงินไม่ได้ต้องห้ามพลาด กับเทคนิคการบริหารเรื่องเงิน จากโค้ชหนุ่ม-จักรพงษ์ เมษพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านการเงินอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย  ที่จะให้วิธีการด้านการเงินที่ทำให้วิกฤตทางการเงินของคุณเป็นเรื่องที่แก้ไขง่ายมากขึ้น

คาดการณ์อนาคตด้วยการคำนวนรายรับและรายจ่าย  
สิ่งแรกที่ควรทำในช่วงวิกฤติ คือการคาดการณ์อนาคตของการเงินตัวเองในระยะสั้นแบบได้แบบชัดเจน สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจ ประกอบกิจการต่างๆ ให้ลองทำงบกำไรขาดทุนของบริษัทในระยะ 6 เดือนต่อจากนี้ โดยลองประมาณการณ์รายรับแบบแย่ที่สุด และรายจ่ายแบบมากที่สุด แล้วลองดูกระแสเงินสดว่าหากเป็นไปในรูปแบบนี้กระแสเงินสดของบริษัทจะเป็นอย่างไร เพราะในช่วงเวลาแบบนี้กระแสเงินสดหรือสภาพคล่องของบริษัทเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ดังนั้นการลองคากการณ์ดูว่าในแต่ละเดือนบริษัทจะขาดทุนหรือกำไรเท่าไหร่

ในส่วนของบุคคลคนทั่วไปก็เหมือนกันให้ลองคำนวนรายรับรายจ่ายดู หากใครถูกให้ออกจากงาน สิ่งแรกเลยคือตั้งสติ ยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วลองคำนวนรายจ่ายในแต่ละเดือน คำนวนออกมาว่าในแต่ละเดือนนั้นติดลบอยู่เท่าไหร่ แล้วลองคำนวนกับเงินสำรองที่มีอยู่ดูว่าจะสามารถทำให้อยู่แบบไม่มีรายรับไปได้อีกกี่เดือน

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อรู้ผลลัพธ์ของการคำนวนนี้แล้ว หากผลลัพ์เป็นไปในทางบวก ที่หมายถึงว่า ตัวเราหรือบริษัทนั้นยังสามารถเดินไปได้ ก็ควรรักษาวินัยในการควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามตัวเลขที่วางไว้เพราะการเขียนตัวเลขในกระดาษนั้นมันง่ายกว่าการใช้จ่ายในชีวิตจริง  สำหรับคนที่ได้ผลเป็นลบ ก็ลองมองหาช่องทางที่จะทำให้สถานการณ์ดีขึ้น นั่นคือการหาช่องทางเพิ่มรายรับ และลดรายจ่าย

ลดค่าใช้จ่ายแล้วเพิ่มรายรับ
ในช่วงวิกฤตแบบนี้ การลดค่าใช้จ่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการเพิ่มรายรับ โดยเริ่มไล่เรียงดูว่าสิ่งที่จำเป็นและสิ่งที่ไม่จำเป็น ต้องตัดลดรายจ่ายในสิ่งที่ไม่จำเป็น ในส่วนของบริษัท กิจการต่างๆ สิ่งที่ควรลดนั่นคือภาระหนี้ โดยเฉพาะในสถานการณ์แบบนี้สถานบันการเงินเปิดโอกาสและพร้อมจะพูดคุยถึงปัญหามากกว่าช่วงเวลาปกติ

ช่องทางในการเจรจานั้นอาจทำได้ดังนี้
1.ขอลดดอกเบี้ย ถ้าหากเรายังสามารถผ่อนได้และยังอยากจะจ่ายเงินต้น ให้เลือกใช้วิธีการนี้
2.ขอชำระเฉพาะดอกเบี้ย เรื่องนี้หากในสถานการณ์ปกติถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เป็นวิธีการที่ดีต่อบริษัท แต่ในสถานการณ์พิเศษแบบนี้หากทำให้บริษัทสามารถยังพอมีสภาพคล่องเดินต่อไปได้ ก็อาจะเป็นที่ต้องลองคุยกับสถาบันการเงินว่าขอพักชำระเงินต้นในระยะ 3 – 6 เดือน
3.ขอพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย หากคำนวนกระแสเงินสดที่เหลือดูแล้วว่ากิจการอาจจะเดินต่อไปไม่ไหว อาจต้องขอพักชำระหนี้ ในระยะ 3 – 6 เดือน เพื่อดึงกระแสเงินสดกลับมาช่วยให้กิจการนั้นผ่านไปได้ก่อน

นอกจากนี้บริษัท กิจการ ที่มีลูกหนี้ทางการค้าอาจลองทำการให้โปรโมชั่น ชำระเร็วขึ้นดอกเบี้ยลดลงเพื่อดึงเงินสดกลับเข้ามาไว้ที่ตัวก่อน

ในส่วนของบุคคลนั้นก็สามารถเจรจาทั้ง 3 ช่องทางนี้ได้เช่นเดียวกัน ทั้งหนี้บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล หนี้บ้าน หนี้รถยนต์ บัตรกดเงินสด ก็สามารถขอเจราได้เช่นกันเพื่อเก็บเงินสดไว้กับตัวไว้ให้ได้นานที่สุด

สร้างอาชีพที่ 2 หารายได้เพิ่ม
รายได้ช่องทางแรกที่ควรดำเนินการ ก็คือ การติดต่อเงินชดเชยรายได้ หรือเงินเยียวยา จากสิทธิต่างๆ ที่เราพึงมี เช่น ถ้าคุณเป็นพนักงานประจำ ที่นายจ้างหักเงินส่งประกันสังคมเป็นประจำทุกเดือน​ และถูกให้หยุดงานโดยไม่ได้เงิน หรือเลิกจ้าง จากผลกระทบของวิกฤตไวรัส ก็ให้ติดต่อของเงินชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคม นอกจากนี้อาจจะลองศึกษา หาแนวทางทำอาชีพเสริม เช่นการนำความรู้ความสามารถของตัวเองที่มีมาสอนแบบออนไลน์ หรือหากบางอาชีพนั้นอาจยังทำไม่ได้ในช่วงวิกฤติ แต่ก็ให้เตรียมความพร้อมไว้ หลังวิกฤตเบาบางลง จะได้พร้อม ได้เริ่มสร้างอาชีพใหม่ที่เราศึกษามาแล้วเป็นอย่างดี ในขณะที่หลายคนกำลังนั่งจมนั่งทุกข์กับปัญหา มีอีกหลายคนกำลังเรียนรู้อะไรใหม่ๆ หรือต่อยอดจากความรู้เดิมๆ ที่มีที่จะสามารถทำเงินเพิ่มไปได้ ทั้งนี้เพื่อหาทางแก้ปัญหา และรอจังหวะที่จะเริ่มต้นอะไรใหม่ๆ สร้างอาชีพที่ 2 หลังจากวิกฤตผ่านไป

และสิ่งสุดท้ายก่อนจะเริ่มทำทุกอย่างนั้นสิ่งที่เราต้องมีเลยคือ จิตใจในการสู้ การคิดถึงแต่ปัญหา ดราม่า จมอยู่กับความทุกข์นั้นไม่เคยทำให้ปัญหาผ่านไปได้ คนที่มีสติตั้งหลักได้เร็วกว่า คือคนที่มีโอกาสลุกขึ้นมาได้ก่อน จงคิดอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งคุณจะต้องลุกขึ้นมาให้ได้ และอยากให้เหตุการณ์ในวันนี้เป็นตัวสอนให้ทุกคนเริ่มต้นการวางแผนใหม่ การเปลี่ยนแปลงชีวิตในหลายๆ ด้าน เรียนรู้เพื่อจะรับมือกับวิกฤตครั้งต่อไปที่เกิดขึ้นได้อีก